ในการเขียนหรือการพูดภาษาอังกฤษนั้นจำเป็นจะต้องคำนึงถึงเรื่อง การใช้เอกพจน์ พหูพจน์ และเรียนรู้ว่า คำพหูพจน์ คือ อะไร ใช้ต่างจากคำเอกพจน์อย่างไร เพื่อให้เราจัดรูปประโยคในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้การสื่อสารเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น การใช้คำพหูพจน์และคำเอกพจน์มีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกันโดยชัดเจน จากคำนามที่เราใช้ว่าเป็นคำนามประเภทใด ซึ่งคำนามดังกล่าวจะส่งผลต่อการใช้คำนำหน้า และรูปคำในการเขียนตามแต่ละประเภท โดยเราสามารถเข้าใจเรื่องความหมายและการใช้คำเอกพจน์และคำพหูพจน์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนี้
1. ทำความรู้จักคำเอกพจน์และคำพหูพจน์
คำนามในภาษาอังกฤษ แบ่งได้ 2 ประเภทหลัก ๆ คือ คำนามเอกพจน์และคำนามพหูพจน์ โดยมีคำจำกัดความ ดังนี้
- คำเอกพจน์ คือ (singular noun ) : คำที่แสดงหรือบ่งบอกปริมาณของจำนวนที่ไม่เกิน 1 หน่วย หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘คำนามทั่วไป’ อาทิ แมว(Cat),สุนัข(Dog),เท้า(foot) หรือ โต๊ะ(Table) เป็นต้น
ตัวอย่างกลุ่มคำ/ วลี
- แมวจำนวนหนึ่งตัว : A cat
- สุนัขจำนวนหนึ่งตัว : A dog
- เท้าหนึ่งข้าง : foot
- โต๊ะหนึ่งตัว : A Table
- คำพหูพจน์ คือ (plural noun) : คำที่แสดงหรือบอกปริมาณตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไป หรือคำที่บอกถึงจำนวนที่มากกว่าหนึ่งสิ่งขึ้นไป อาทิ แมว (Cats), สุนัข (Dogs), เท้า (feet) หรือ โต๊ะ (Tables) เป็นต้น
ตัวอย่างกลุ่มคำ/ วลี
- แมวจำนวนสามตัว : Three cats
- สุนัขจำนวนสองตัว : Two dogs
- เท้าสองข้าง : Feet
- โต๊ะสามตัว : Three Tables
ด้วยเหตุนี้ การใช้เอกพจน์ พหูพจน์ ภาษาอังกฤษ จึงจำเป็นต้องดูประเภทของคำนามที่จะนำมาใช้เสมอ เนื่องจากคำนามบางประเภทจะไม่เปลี่ยนรูปไปจากเดิมแม้จะอยู่ในรูปประโยคของเอกพจน์หรือพหูพจน์ ทว่าคำนามบางประเภทจะเปลี่ยนรูปไปจากเดิม เมื่อต้องเปลี่ยนรูปเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์
2. คำเอกพจน์และคำพหูพจน์ใช้เพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่าง Subject - Verb
เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานการแยกประเภทคำนามจากคำนามที่ ‘นับปริมาณได้’ และ ‘นับปริมาณไม่ได้’ จะช่วยทำให้เราสามารถหยิบใช้และเปลี่ยนรูปคำนามเอกพจน์และพหูพจน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- คำนามที่สามารถนับได้ (Countable noun) : คือคำนามใด ๆ ที่เราสามารถนับได้ด้วยตาเปล่า อาทิ คุกกี้ 1 ชิ้น, ขนม 2 ห่อ, ลูกชิ้น 2 ไม้ เป็นต้น
- คำนามนับไม่ได้ (Uncountable noun) : คือคำนามที่เราไม่สามารถนับเป็นชิ้นได้โดยไม่ใช้เครื่องมือช่วย หรือไม่สามารถนับได้ด้วยตาเปล่าจำเป็นต้องแบ่งแยกเป็น กลุ่ม หรือนับแบบภาพรวม อาทิ น้ำ 1 ขวด , ข้าว 2 กระสอบ , ความสุข 1 อย่าง เป็นต้น
3. หลักการง่าย ๆ ในการเปลี่ยนเอกพจน์เป็นพหูพจน์
หากกล่าวตามนิยามของการใช้คำเอกพจน์และคำพหูพจน์ เราสามารถเปลี่ยนคำเอกพจน์ให้กลายเป็นคำพหูพจน์ได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ดังนี้
คำเอกพจน์ทั่วไปสามารถเปลี่ยนให้เป็นคำพหูพจน์ได้ด้วยการเติม -S ลงท้ายคำนาม ซึ่งหลักการนี้ใช้ได้กับคำนามที่นับได้เท่านั้น เช่น
- Apple (เอกพจน์) เป็น Apples (พหูพจน์)
- Stamp (เอกพจน์) เป็น Stamps (พหูพจน์)
- Computer (เอกพจน์) เป็น Computers (พหูพจน์)
****สำหรับในกรณีของการเปลี่ยนคำนามที่นับไม่ได้เป็นคำนามที่นับได้นั้น ตามหลักการแล้วไม่สามารถทำได้ เนื่องจากคำนามที่นับไม่ได้จำเป็นจะต้องระบุจำนวนพร้อมเติมลักษณะนามเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการสรุปปริมาณที่ผู้พูดหรือผู้เขียนพยายามจะสื่อสาร ทว่าก็ยังมีข้อยกเว้นในบางกรณี อาทิ wine โดยปกติจัดอยู่ในคำนามที่นับไม่ได้ แต่หาก wines เติม -s คำนี้จะกลายเป็นคำพหูพจน์ทันที ซึ่งมีความหมายว่า ไวน์ชนิดต่าง ๆ ได้เช่นกัน****
คำนามเอกพจน์ที่ประกอบไปด้วยคำลงท้าย sh, ch, s, ss, x, และ z สามารถเปลี่ยนให้คำนามเอกพจน์กลายเป็นคำพหูพจน์ได้ด้วยการเติม -es อาทิ
- Bus (เอกพจน์) เป็น Buses (พหูพจน์)
- Box (เอกพจน์) เป็น Boxes (พหูพจน์)
- Quiz (เอกพจน์) เป็น Quizzes (พหูพจน์)
- Church (เอกพจน์) เป็น Churches (พหูพจน์)
คำนาม ที่มี O เป็นพยัญชนะขึ้นต้นหรือลงท้ายสามารถเปลี่ยนคำนามเอกพจน์ให้กลายเป็นพหูพจน์ได้ด้วยการเติม -es อาทิ
- Tomato (เอกพจน์) เป็น Tomatoes (พหูพจน์)
- Echo (เอกพจน์) เป็น Echoes (พหูพจน์)
- Hero (เอกพจน์) เป็น Heroes (พหูพจน์)
- Potato (เอกพจน์) เป็น Potatoes (พหูพจน์)
ข้อควรระวัง 1 : คำนามใดที่ลงท้ายด้วย O แต่มีพยัญชนะ หรือ สระ ขึ้นต้น ควรเติม -s ลงท้ายคำนามนั้น ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- Auto (เอกพจน์) เป็น Autos (พหูพจน์)
- Bamboo (เอกพจน์) เป็น Bamboos (พหูพจน์)
- Tobacco (เอกพจน์) เป็น Tobaccos (พหูพจน์)
ข้อควรระวัง 2 : ในบางกรณีคำนามที่ลงท้ายด้วย O บางคำสามารถเลือกเติม -s หรือ -es ได้ทั้งสองแบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- Mango (เอกพจน์) เป็น Mangos หรือ Mangoes (พหูพจน์)
- Zero (เอกพจน์) เป็น Zeros หรือ Zeroes (พหูพจน์)
- Mosquito (เอกพจน์) เป็น Mosquitos หรือ Mosquitoes (พหูพจน์)
คำนามที่มี y ลงท้าย และ ด้านหน้าของ y เป็นพยัญชนะ ให้เปลี่ยนรูปจาก y เป็น i แล้วเติมด้วย -es ลงท้ายเสมอ อาทิ
- Lady (เอกพจน์) เป็น Ladies (พหูพจน์)
- Family (เอกพจน์) เป็น Families (พหูพจน์)
- Baby (เอกพจน์) เป็น Babies (พหูพจน์)
ข้อควรระวัง : หากหน้า y เป็นสระ a e i o u ให้เติม -s เสมอ ดังเช่น
- Monkey (เอกพจน์) เป็น Monkeys (พหูพจน์)
- Toy (เอกพจน์) เป็น Toys (พหูพจน์)
- Key (เอกพจน์) เป็น Keys (พหูพจน์)
หากคำนามเอกพจน์ใดมีพยัญชนะลงท้ายด้วย fe หรือ f สามารถเปลี่ยนคำนามเอกพจน์คำนั้นให้เป็นคำนามพหูพจน์ได้โดยการเปลี่ยน f และ fe เป็น v จากนั้นเติม -es ลงท้าย อาทิ
- Calf (เอกพจน์) เป็น Calves (พหูพจน์)
- Thief (เอกพจน์) เป็น Thieves (พหูพจน์)
- Wife (เอกพจน์) เป็น Wives (พหูพจน์)
4. ประโยชน์ของการใช้คำเอกพจน์และคำพหูพจน์
แม้เราจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงความของคำเอกพจน์และคำพหูพจน์เพื่อให้เราสามารถเลือกใช้คำได้อย่างเหมาะสมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรทราบคือพจน์ทั้งสองมีประโยชน์และมีบทบาทที่สำคัญในภาษาอังกฤษด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ
1. ช่วยให้ง่ายต่อการบอกปริมาณของคำนามนั้น ๆ
ในการพูดหรือการเขียน หากเราไม่ได้ระบุปริมาณ หรือจำนวนที่ชัดเจน ผู้ฟังหรือผู้อ่านจะสามารถเข้าใจถึงจำนวนที่เราจะสื่อได้จากการสังเกตพจน์ของคำนามที่เราใช้ โดยการประมาณจำนวนที่ผู้พูดหรือผู้เขียนมักอยู่ในรูปประโยคดังนี้
- รูปประโยคแบบ คำเอกพจน์ คือ ขาของฉันเจ็บ (My leg hurts.) หากวิเคราะห์ตามรูปประโยค จะแสดงหรือสื่อความหมายว่า เขาเจ็บขาเพียงข้างเดียว
- รูปประโยคแบบ คำพหูพจน์ คือ ขาของฉันเจ็บ (My legs hurt.) ตามรูปประโยคสื่อว่า เขาคนนี้เจ็บขาทั้งสองข้างเนื่องจากคำนามเติม -S
2. ช่วยทำให้เราสามารถเลือกคำที่จะใช้นำหน้าคำนามได้ดียิ่งขึ้น
โดยคำที่นิยมนำมาใช้นำหน้ามากที่สุดคือ this, that, a, an, the, these, those, many, some และ one, two, three…..ซึ่งคำที่กล่าวมาข้างต้นมีข้อกำหนดในการใช้งานดังนี้
- a, an, that, this และปริมาณที่บอกเป็นจำนวน เช่น one จะใช้นำหน้าเฉพาะคำนามที่อยู่ในพจน์ของเอกพจน์เท่านั้น
- many, these, those และคำนำหน้าที่บอกปริมาณ เช่น one, two ใช้นำหน้าเฉพาะคำนามที่อยู่ในพจน์ของพหูพจน์เท่านั้น
- ในบางกรณีคำนำหน้าก็สามารถใช้นำหน้าได้ทั้งพจน์ที่อยู่ในรูปเอกพจน์และพหูพจน์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยส่วนมากนิยมใช้คำว่า the และ some เป็นคำนำหน้า
3. ช่วยทำให้เราเลือกใช้งานคำกิริยาได้อย่างเหมาะสม
แน่นอนว่าคำกิริยาตามทฤษฎีในภาษาอังกฤษนั้น ถูกแบ่งประเภทออกเป็นรูปคำกิริยาแบบเอกพจน์และรูปคำกิริยาแบบพหูพจน์เช่นกัน โดยวิธีการใช้งานคำกริยาทั้งสองพจน์สามารถเลือกใช้ได้ภายใต้ข้อกำหนด
-รูปคำกิริยาแบบพหูพจน์จะต้องใช้ควบคู่กับคำนามที่อยู่ในรูปพหูพจน์เท่านั้น
-รูปคำกิริยาใดก็ตามที่อยู่ในรูปเอกพจน์จะต้องใช้ควบคู่กับคำนามที่อยู่ในรูปเอกพจน์เช่นกัน กล่าวคือคำกิริยาจะเปลี่ยนรูปไปตามประธานเสมอ อาทิ
- He studies French. (กิริยาในรูปเอกพจน์ + คำนามในรูปของเอกพจน์)
- They study French. (กิริยาในรูปพหูพจน์ + คำนามในรูปพหูพจน์)
- It goes fast. (กิริยาในรูปเอกพจน์ + คำนามในรูปเอกพจน์)
- They go fast. (กิริยาในรูปพหูพจน์ + คำนามในรูปพหูพจน์)
หากเราใช้คำกิริยาไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับคำนามดังทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้นอาจส่งผลให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านไม่เข้าใจและเกิดความสับสนในความหมายที่ผู้พูดหรือผู้เขียนจะสื่อสารได้
ดังนั้น การใช้คำเอกพจน์และคำพหูพจน์ในภาษาอังกฤษมาใช้ในรูปประโยคของเราทั้งในงานเขียนและการสนทนาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลักการใช้คำและการจัดเรียงรูปประโยคล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบสำคัญของการสื่อความหมายและความชัดเจนในการสื่อสารทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การใช้คำเอกพจน์และคำพหูพจน์ให้ถูกต้อง จึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้การพูดตลอดจนการเขียน (grammar) ของเราเป็นมืออาชีพและมีความน่าเชื่อถือ