พันธุศาสตร์... เรื่อง (ไม่) ลับของ DNA
3491 views | 16/11/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


เคยสงสัยไหมว่า...?...ทำไมคนเราเกิดมาถึงแตกต่างกัน มีลักษณะเฉพาะของแต่ละคน บางคนตาสีฟ้า บางคนตาชั้นเดียว บางคนจมูกโด่ง บางคนผมหยิก บางคนผิวขาว หรือทำไมเราถึงมีหน้าตา บางส่วนที่ไม่เหมือนพ่อกับแม่ ฝาแฝดบางคู่ถ้าหากเราลองสังเกตกันดี ๆ ก็จะเห็นว่ามีบางอย่างที่แตกต่าง เพราะคนเราหรือสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตมีรหัสลับนั่นเอง... ไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ปาก ผิวหนัง ผม ส่วนใด ๆ ของร่างกายล้วนมีรหัสเข้าไป เพื่อให้ทราบและเข้าถึงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราเรียกว่าเป็นการศึกษาพันธุศาสตร์ในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งในการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เรียกว่า DNA ซี่งมาจากคำว่า Deoxyribonucleic acid เป็นสารทางพันธุกรรมที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช หรือสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ หน้าที่ของ DNA ก็คือ เก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เป็นตัวกลางในการส่งผ่านข้อมูลทางพันธุกรรมที่อยู่ในรูปของยีนต่าง ๆ โดยการค้นพบ DNA เพื่อไขความลับต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตนั้น ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยและทดลองในด้านพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพอย่างกว้างขวาง เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความหลากหลาย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลต่อสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่เราต้องทำความรู้จักและเข้าใจถึงความสำคัญของ DNA กันให้มากขึ้น



ซึ่งในร่างกายของคนเราประกอบด้วยเซลล์มากมาย และสิ่งที่เป็นตัวควบคุมหรือเป็นรหัสการเข้าถึงการทำงานต่าง ๆ ของเซลล์ก็คือ DNA (Deoxyribonucleic acid) ที่ทำหน้าที่สร้างสายโปรตีนต่าง ๆ ออกมาใช้เป็น ส่วนต่าง ๆ ในเนื้อเยื่อฮอร์โมน เอนไซม์และอีกหลากหลาย ทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้ ซึ่ง DNA จะอยู่ในรูปของโครโมโซม วางตัวอยู่ในส่วนของนิวเคลียสภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต การสรรสร้างสาย DNA นี้ เปรียบเสมือนกับการผสมแม่สี ที่นำมาร้อยเรียงเป็นเส้นสายออกมาคล้ายสร้อยลูกปัด แต่ละเส้นจะประกอบด้วยอนุพันธ์ย่อย ๆ เรียกว่า นิวคลีโอไทต์ (Nucleotide) ที่พบมากเพียง 4 ชนิด คือ A, G, T และ C ร้อยเรียงต่อกัน และสิ่งที่น่าสนใจก็คือการเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปในแต่ละคน ฉะนั้นการตรวจรหัส DNA จะมีความแม่นยำ โอกาสที่คนเราจะมีลักษณะเหมือนกันทุกตำแหน่งจึงเป็นไปได้ยาก


ดังนั้นในการศึกษาความก้าวหน้าทางด้านพันธุศาสตร์ การจัดการข้อมูลด้านชีวภาพ การประยุกต์ใช้ความรู้ต่าง ๆ ด้านพันธุศาสตร์ การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีที่ได้จากถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์นำไปสู่วิทยาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้องค์ความรู้ในการวินิจฉัยโรคเพื่อศึกษาโรคทางพันธุกรรม ความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งนำไปสู่การค้นหายีนใหม่ และ DNA ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคทางพันธุกรรมบางชนิดได้สำเร็จ เช่น โรคกระดูกหัก ภาวะที่พบว่ามีหินปูนเกาะที่เส้นเลือดแดง และยังมีโรคอีกมากมายที่มีสาเหตุหรือปัจจัยทางพันธุกรรม รวมถึงการใช้ความรู้ทางพันธุศาสตร์มาประยุกต์กับการดูแลรักษาผู้ป่วยมากขึ้น เช่น การทดสอบทางพันธุกรรม ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมที่ปรากฎในเด็กหรือผู้ใหญ่ การประเมินความเสี่ยงของการมีบุตร และอีกมากมาย ซึ่งในการใช้ความรู้ทางพันธุศาสตร์ยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เกิดการเชื่อมโยงและต่อยอดผสมผสานกับศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ที่มาข้อมูล

  • http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20180817143806.pdf
  • อณูพันธุศาสตร์ล้ำสมัยกับเวชปฏิบัติของกุมารแพทย์(AdvancedMolecularGeneticsinPediatricPractice)