ต้อนรับน้องใหม่ของชาว TCAS 66 นั่นคือ “TPAT” (ชื่อสกุลเต็มคือ Thai Professional Aptitude Test) การสอบวัดความถนัดวิชาชีพ ชื่อดูคล้ายกับข้อสอบ PAT เดิมที่เคยใช้ในระบบ TCAS แต่มีการจัดกลุ่มวิชาใหม่ และปรับรูปแบบการสอบ มาดูรายละเอียดกันว่า TPAT คืออะไร สอบวิชาอะไรบ้าง
- TPAT 1 ความถนัดทางแพทยศาสตร์ (เดิมคือวิชาเฉพาะ กสพท. รวมทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์) ข้อสอบแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
- TPAT 2 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ (เหมือนเดิม)
- TPAT 3 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
(ไม่ใช่การสอบวัดความรู้ด้านฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาแบบเดิม แต่เป็นการเน้นวัดความถนัดทางวิชาชีพจริง ๆ)
- TPAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรม (ไม่มีสอบวาดรูป)
- TPAT 5 ความถนัดทางครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ (เหมือนเดิม)
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อสอบ PAT แล้ว จะพบว่าสิ่งที่หายไปในข้อสอบ TPAT คือ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ (ซ้ำซ้อนกับวิชาสามัญ), PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ (ปรับรูปแบบข้อสอบและนำไปรวมอยู่ใน TPAT ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ และ PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ 7 วิชา (เปลี่ยนไปอยู่กลุ่มใหม่คือ A-Level (กลุ่มวิชาสามัญเดิม) TPAT จะเหลือแค่กลุ่มความถนัดเท่านั้น ส่วนสิ่งที่เพิ่มมาคือความถนัดทางแพทยศาสตร์ จากที่เคยแยกสอบวิชาเฉพาะต่างหากโดย กสพท. เปลี่ยนมาสอบรวมอยู่ในกลุ่ม TPAT
เมื่อตอนเป็นข้อสอบ PAT คะแนนเต็มอยู่ที่ 300 คะแนน พอเป็น TPAT เปลี่ยนเป็นคะแนนเต็ม 100 คะแนน และคะแนนมีอายุแค่ 1 ปี เท่านั้น! ดังนั้นใครอยากจะซิ่วไปสอบเข้าระบบ TCAS ปีไหน ก็ต้องสอบ TPAT ใหม่ เฉพาะของปีนั้น
ตามประกาศล่าสุดจาก ทปอ. แจ้งไว้ว่าเป็นเดือนธันวาคมของแต่ละปี (สอบปีละ 1 ครั้งเท่านั้น) ส่วนกำหนดการที่แน่นอน ให้น้อง ๆ ติดตามรายละเอียดต่อไป ทันทีที่มีความคืบหน้าพี่นัทจะรีบนำมาแจ้งโดยด่วนค่ะ
ในยุคข้อสอบ PAT ไม่มีการใช้คะแนนวิชานี้ใน TCAS รอบที่ 1 Portfolio แต่สำหรับ TCAS 66 เป็นต้นไป คะแนน TPAT สามารถใช้ในระบบ TCAS ได้ทุกรอบ แม้แต่รอบที่ 1 เพราะเป็นข้อสอบวัดความถนัดสามารถนำมาประกอบกับการพิจารณารอบ Portfolio ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะ / สาขาเป็นผู้กำหนด
TCAS 66 ขับเคลื่อนอยู่บนโลกดิจิทัลเต็มรูปแบบ ดังนั้นจึงปรับรูปแบบการสอบให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี โดยวางแผนไว้ว่าจะจัดสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (สอบที่มหาวิทยาลัย) หรือใครจะเลือกสอบแบบ Original ด้วยการใช้กระดาษ (สอบที่โรงเรียน) ก็ยังสามารถทำได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงข้อนี้ สำหรับพี่นัทมองว่า Challenge ที่สุด ตื่นตาตื่นใจมาก มากพอ ๆ กับการลุ้นและความกังวลว่าระบบจะรองรับได้จริงอย่างที่วางแผนไว้หรือไม่ มาติดตามความท้าทายนี้ไปพร้อมกันค่ะ
- ลดความซ้ำซ้อนของรายวิชาสอบ ในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่ก่อนหน้านี้ต้องสอบทั้งในข้อสอบ PAT และ วิชาสามัญ ใน TCAS 66 จึงปรับให้เหลือแค่การสอบรูปแบบเดียว คือการสอบ A-Level
- เน้นการนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้งาน ไม่ใช่แค่การท่องสูตร จำแต่เนื้อหา แต่สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ การเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างรายวิชาได้
- นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอบมากขึ้น โดยมีทางเลือกให้สอบด้วยกระดาษหรือคอมพิวเตอร์
เป็นยังไงกันบ้างคะ ได้อ่านแล้ว หายใจแล้วรู้สึกจุก ๆ มั้ย หรือหายใจหายคอได้คล่องขึ้นสบายใจขึ้น พี่นัทอยากให้น้อง ๆ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมีเหตุผล และทุกเหตุผลมีคุณค่าอยู่ในตัวของมัน ไม่มีใครตั้งใจเปลี่ยนอะไร เพื่อหวังผลให้สิ่งนั้นแย่ลงอย่างแน่นอน เพียงแต่ในทุกการเปลี่ยนแปลงมันมี Effect ที่ต้องตั้งรับ เราอาจได้รับแรงกระแทกมากบ้าง น้อยบ้าง แต่เชื่อเถอะว่าถ้าเราตั้งรับได้ดี แล้วพร้อมใส่เกียร์เดินหน้ารุกเข้าใส่การเปลี่ยนแปลง ว่าอะไร พี่นัทเชื่อว่า สิ่งนั้นจะหยุดน้อง ๆ ไม่ได้! น้อง ๆ จะไม่เชื่ออย่างพี่ก็ได้ แต่ขอให้เชื่อสักเรื่องคือ ไม่มีอะไรหยุดเราได้จริง ๆ ไปต่อค่ะ ความสำเร็จกำลังเรียนหาแล้ว
และหากใครยังไม่มั่นใจใด ๆ ในโลก TCAS คอร์สเรียนวิชาต่าง ๆ ของ VCOURSE สแตนด์บายเป็นตัวช่วยให้น้อง ๆ อยู่แล้ว ติดตามรายละเอียดคอร์สต่าง ๆ ได้เลยค่ะ
พี่นัท นัททยา