รู้จัก ระดับขั้นในวิชาชีพแพทย์ มีอะไรบ้าง
118830 views | 20/04/2022
Copy link to clipboard
pornpun yoopakdee
Content Creator

     ในหลักสูตรแพทย์ 6 ปี เมื่อเรียนจบแล้วเป็นแพทย์เหมือนกันหมดทุกคนไหม? แพทย์ที่เราเห็นตามโรงพยาบาล ทำไมถึงมีการเรียกที่ต่างกัน มาทำความรู้จัก ระดับขั้นในวิชาชีพแพทย์ ชั้น Pre-clinic / ชั้น Clinic / Extern / Intern / Resident / Fellowship / Staff น้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวเข้าแพทย์อยู่ อีกเรื่องรอบตัวที่เราจะต้องรู้คือ ความหมายของคำศัพท์กลุ่มนี้นะว่าคืออะไร มีที่มาอย่างไร ตามไปหาคำตอบกัน !  



ชั้น Pre-clinic  

นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 1 -3 จะใช้คำเรียกว่า นักศึกษาแพทย์ชั้นพรีคลินิก หลัก ๆ จะเริ่มเรียนปูพื้นฐานที่เป็นภาคทฤษฎี วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างร่างกายทั้งหมด


ชั้น Clinic 

นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 -6 จะใช้คำเรียกว่า นักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก เป็นชั้นปีที่เริ่มใกล้คำว่าแพทย์มากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่การเรียนทฤษฎีในห้องเรียน แต่จะเริ่มออกไปปฏิบัติจริง เรียนรู้ตามวอร์ด และเริ่มได้รักษาคนไข้บ้างแล้ว


Extern 

คือคำเรียกนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 เป็นปีสุดท้ายของการเรียนแพทย์ และเป็นปีที่ค่อนข้างหนักที่สุดของการเรียนแล้ว เพราะในชั้นปีนี้จะเริ่มได้ทำงานจริงตามโรงพยาบาลแล้ว แต่จะยังมีอาจารย์คอยควบคุมอย่างใกล้ชิดอยู่


Intern แพทย์ใช้ทุน 

คือแพทย์ที่เรียนจบการศึกษามาใหม่ หรือเรียกว่า แพทย์ใช้ทุน โดยนักศึกษาที่จบหลักสูตรแพทย์ ของมหาวิทยาลัยรัฐ จะต้องไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ซึ่งเหตุผลที่แพทย์ต้องไปใช้ทุน เพราะค่าเทอมแพทย์ของมหาวิทยาลัยรัฐ ในส่วนที่จ่ายไปนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการเรียนแพทย์จริง ๆ สูงมาก ประมาณ 5 ล้านบาทต่อคน รัฐบาลจึงช่วยเหลือสนับสนุน และหากไม่ใช้ทุนตามที่กำหนด หรือลาออกก่อน ต้องใช้เงินคืนรัฐประมาณ 400,000 บาท 


ต่างจากการเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยเอกชน ที่จบแล้วไม่ต้องไปใช้ทุน เพราะเก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเรียนไปแล้ว ซึ่งสำหรับแพทย์ที่ไปใช้ทุนจะได้สะสมประสบการณ์ และเพิ่มพูนทักษะ และเป็นเหมือนใบเบิกทางเพื่อเรียนต่อเฉพาะทางด้วย 


Resident แพทย์ประจำบ้าน

คือแพทย์ที่เรียนจบหลักสูตร 6 ปีแล้ว และเข้ามาเรียนต่อในสาขาที่ตัวเองสนใจ ก็คือการเรียนต่อเฉพาะทางนั่นเอง ซึ่งจะมีหลายสาขาในการเรียนต่อ เช่น กุมารเวชศาสตร์ จักษุวิทยา จิตเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ นิติเวชศาสตร์ วิสัญญีวิทยา และอื่น ๆ 


Fellowship แพทย์ประจำบ้านต่อยอด

คือแพทย์ประจำบ้านที่เรียนจบเฉพาะทางในสาขานั้น ๆ แล้ว แต่ในสาขามีการเรียนย่อยเจาะลึกลงไป จึงเรียนต่อยอดขึ้นไปอีก และเรียกว่าแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ยกอย่างเช่น เรียนเฉพาะทางในสาขาจักษุวิทยามา ก็มาเรียนต่อยอด อนุสาขาจอประสาทตา อนุสาขาโรคต้อหิน เป็นต้น 


Staff อาจารย์แพทย์

ระดับขั้นสูงสุดของวิชาชีพแพทย์ คือ อาจารย์แพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทาง ที่ทำงานในโรงพยาบาลนั่นเอง



ที่มาข้อมูล

  • เรียนต่อไหนดี:แพทย์ใช้ทุนคืออะไรทำไมต้องใช้ทุนhttps://bit.ly/3uleD57