ตั้งเป้า 6 เดือน ก่อนสมัครรอบ PORTFOLIO ควรทำอะไร ?
3519 views | 01/06/2022
Copy link to clipboard
pornpun yoopakdee
Content Creator

     อยากติดรอบ Portfolio ก็มาตั้งเป้าหมายกันเถอะ ! ในรอบนี้อย่างที่น้อง ๆ ทราบกันดีว่า ผลงาน คือตัวหลักที่ใช้ยื่นประกอบการพิจารณา เพราะฉะนั้นการเตรียมข้อมูล รวบรวมข้อมูล รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่ต้องศึกษาก่อนยื่นสมัครนั้นสำคัญ น้อง ๆ ที่อยากเตรียมพร้อมก่อน มาตั้งเป้ากัน ช่วง 6 เดือน ก่อนสมัครรอบ PORTFOLIO ตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ธ.ค. เราควรทำอะไร ? 



ตั้งเป้า 6 เดือน ก่อนสมัครรอบ PORTFOLIO ควรทำอะไร ? 


เดือนมิถุนายน


- เก็บรวบรวมผลงานที่มี เช่น เกียรติบัตร รูปภาพ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ : รวบรวบและจัดแยกประเภทผลงานที่มี ดูว่าเรามีผลงานส่วนไหนบ้าง เช่น ด้านวิชาการ ด้านกิจกรรม ด้านจิตอาสา เป็นต้น ควรเน้นในช่วงมัธยมปลาย ส่วนมัธยมต้น ประถม ให้คัดเลือกผลงานตามความเหมาะสมกับคณะที่จะสมัคร

- เริ่มสะสมผลงานเพิ่มเติม หรือ สร้างผลงานที่ทำเอง : ผลงานในด้านที่เรายังไม่มี น้อง ๆ ก็ควรเริ่มหาผลงาน ไปค่าย ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลงานประกวด ตามความเหมาะสม หรือ สร้างผลงานที่ทำเองก็สามารถใส่ลงเป็น Portfolio ได้ อธิบายถึงจุดประสงค์ ความเป็นมาต่าง ๆ ลงไป

- เก็บเกียรติบัตรออนไลน์ เพิ่มประสบการณ์ : เกียรติบัตรออนไลน์ก็สามารถใส่ลง Portfolio ได้ มหาวิทยาลัย หรือ ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ มีเปิดให้เรียนรู้หลักสูตรออนไลน์มากมาย ให้น้อง ๆ ได้เพิ่มความรู้ ประสบการณ์ เลือกเรียนตามหลักสูตร ที่ส่งเสริมทักษะตามที่คณะต้องการได้เลย ช่วยเพิ่มความน่าสนใจผลงานของเราได้มากขึ้นนะ


เดือนกรกฎาคม


- หาข้อมูลคณะ/สถาบันที่เปิดรับของปีที่แล้ว : เริ่มศึกษาข้อมูลคณะ/สาขาวิชาที่เปิดรับในรอบ Portfolio ของสถาบันต่าง ๆ ที่เตรียมจะยื่น ดูว่ามีโครงการใดบ้าง จำนวนรับ เพื่อประเมินก่อนการยื่นสมัคร

- ศึกษาเกณฑ์การรับสมัคร คุณสมบัติผู้สมัครของปีที่แล้ว : เกณฑ์การรับสมัคร คุณสมบัติผู้สมัคร แน่นอนต้องศึกษาไว้ก่อนเลย ว่าแต่ละคณะ/โครงการ กำหนดเกณฑ์ไว้อย่างไรบ้าง เช่น ผลงานรางวัล, แผนการเรัียน, ผ่านการเข้าค่าย ตามที่กำหนด ซึ่งถ้าเราไม่มีคุณสมบัติตรงแล้วยื่นไป ก็จะถูกตัดสิทธิ์การสมัคร

- ศึกษาเกณฑ์คะแนนที่ใช้ของปีที่แล้ว : ในปี TCAS 66 บางสถาบันในรอบ Portfolio จะมีกำหนดใช้คะแนน TGAT/TPAT ร่วมด้วย น้อง ๆ ก็ยังคงต้องศึกษาเกณฑ์คะแนนของปีที่แล้วไว้อยู่ เช่น เกรดขั้นต่ำ, เกรดรายวิชา, ผลคะแนนสอบภาษาอังกฤษ เป็นต้น ที่จะมีกำหนดในระเบียบการรับสมัคร และเกณฑ์จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากของในแต่ละปี


เดือนสิงหาคม


- วิเคราะห์หาจุดเด่นของตัวเอง ที่ต้องการนำเสนอ : เรามีความสามารถที่โดดเด่นด้านอะไร เริ่มลิสต์วิเคราะห์ออกมา เพื่อประกอบการนำเสนอลง Portfolio ได้ เช่น ด้านการพูด นำเสนอ, ด้านออกแบบ ดีไซน์, ด้านการเขียน, ด้านถ่ายรูป ถ่ายทำวิดีโอ เป็นต้น

- วิเคราะห์คุณสมบัติตัวเองที่มี ที่ตรงกับคณะ เพื่อยื่นนำเสนอ : จะต้องศึกษาว่าในคณะ/โครงการ ที่จะยื่น มีกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นอย่างไรบ้าง เช่น คณะครุศาสตร์ ก็ต้องการผู้สมัครที่มีผลงานด้านการสอน การพูด การสื่อสารต่าง ๆ จากนั้นเราก็ดูว่าเรามีผลงาน ความสามารถในด้านที่คณะต้องการไหม ถ้ามีต้องนำเสนอออกมาให้ได้เห็น จะช่วยให้เป็นจุดน่าสนใจในการนำเสนอผลงาน Portfolio ได้ 

- เพิ่มเติมผลงานในส่วนที่ตัวเองยังขาด หรือตามที่คณะต้องการ : ผลงาน ทักษะ ความสามารถต่าง ๆ ในช่วงเดือนสิงหาคม น้อง ๆ ยังสามารถหามาเสริมได้ทัน ควรเน้นในส่วนที่ตรงกับคณะให้ได้มากที่สุด


เดือนกันยายน



- เริ่มศึกษาหรือดูแนวทางตัวอย่างการทำพอร์ตจากรุ่นพี่ : การดูตัวอย่างการทำ Portfolio ของรุ่นพี่ ที่สอบติดรอบพอร์ต จะช่วยให้น้อง ๆ เกิดไอเดีย และแนวทางในการทำพอร์ตได้ เพราะตามแต่ละคณะก็จะมีรูปแบบ ดีไซน์ต่าง ๆ ในการนำเสนอ รวมถึงยังมีการเล่าประสบการณ์ของการสอบติดรอบพอร์ตด้วย

- หาตัวอย่างการออกแบบ ที่เหมาะสมกับคณะที่ยื่น : ตามเว็บไซต์จะมีเทมเพลต Portfolio ให้ได้เลือกใช้งาน อาจจะมีทั้งฟรีหรือเสียเงิน น้อง ๆ ควรเลือกดีไซน์ที่แสดงให้เห็นถึงคณะที่จะยื่น เพื่อเอื้อต่อการทำรูปเล่มพอร์ต

- เรียนรู้การใช้โปรแกรม หรือ Application ที่ใช้ทำพอร์ตได้ด้วยตัวเอง : เทมเพลต Portfolio ที่มีให้ใช้งานส่วนใหญ่จะมีมาในหลากหลายโปรแกรม เช่น Photoshop, Power Point, Google Docs, Google Slides, Application บนมือถือ หรือบนเว็บไซต์ ควรเริ่มเรียนรู้การใช้โปรแกรมต่าง ๆ เพื่อการจัดทำออกแบบพอร์ตได้เอง

- เริ่มลงมือทำ Portfolio : ช่วงเดือนกันยายน ควรเริ่มจัดทำ Portfolio ซึ่งจะเหลือเวลาประมาณ 3 - 4 เดือน ก่อนเปิดรับสมัครรอบพอร์ต หรือ น้อง ๆ ที่สามารถเริ่มทำพอร์ตได้ก่อนช่วงเดือนกันยายนก็จะดีมาก เพราะจะมีเวลาในการจัดทำมากขึ้น


เดือนตุลาคม


- List ข้อมูลที่จะใส่ลงพอร์ต : สำหรับชิ้นงาน 10 หน้าที่จะใส่ลง Portfolio น้อง ๆ ต้องเริ่ม List ข้อมูลออกมาว่าจะมีหัวข้ออะไรบ้าง ตั้งแต่หน้าปก, ประวัติการศึกษา, SOP, ผลงาน กิจกรรมที่ได้ทำ และเกียรติบัตร เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมีใส่ลงพอร์ต ส่วนที่ไม่จำเป็นคือ คำนำ สารบัญ ไม่ต้องใส่ก็ได้ 

- วางโครงร่างพอร์ต เตรียมเนื้อหาข้อมูลที่จะใส่ในแต่ละหัวข้อ : ในแต่ละหัวข้อน้อง ๆ ควรใส่คำอธิบาย เล่าเนื้อหาข้อมูลที่มาจากสิ่งที่ได้ทำ แบบพอสังเขป ให้กรรมการสามารถอ่านแล้วพอเข้าใจได้ โดยหัวข้อที่น้อง ๆ ควรใส่คำอธิบาย เช่น หน้าผลงานกิจกรรม หน้าเกียรติบัตร หน้า SOP เป็นต้น ควรเริ่มร่างเขียนเนื้อหาเตรียมไว้ พร้อมที่จะนำไปใส่ลง Portfolio 

- เขียน SOP เหตุผลที่เลือกเรียน : การเขียน SOP คือการเขียนแนะนำตัวเอง เล่าถึงเป้าหมาย ความต้องการ เหตุผลที่เลือกเรียนในคณะ/สาขาวิชานี้ จะช่วยให้กรรมการเข้าใจถึงจุดประสงค์เราได้มากขึ้น

- ทำคลิปแนะนำตัวเอง ช่วยเพิ่มลูกเล่นในการแนะนำตัว : การทำคลิปวิดีโอเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถสร้างความน่าสนใจ ช่วยเพิ่มลูกเล่นในการแนะนำตัว นอกเหนือจากรูปเล่ม Portfolio ได้ โดยทำคลิปแนะนำตัวเองแบบสั้น ๆ เล่าถึงความสามารถทักษะที่มี ผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวกับคณะมาอย่างไรบ้าง หรือน้อง ๆ ที่มีผลงานในรูปแบบคลิปก็สามารถนำใส่ และพูดประกอบลงในคลิปไปได้เลย 


เดือนพฤศจิกายน


- เตรียมเอกสารประกอบการสมัคร : ในการสมัครมหาวิทยาลัย แต่ละที่จะมีกำหนดเอกสารประกอบการสมัคร ให้น้อง ๆ เตรียมขอกับทางโรงเรียนไว้ล่วงหน้าได้เลย เช่น ใบ ปพ.1 / ปพ.2 / ปพ.7 นอกจากนั้นก็มี รูปถ่ายนักเรียน, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, เอกสารการเปลี่ยนชื่อ / ที่อยู่ เป็นต้น

- ติดตามระเบียบการ สถาบันที่ออกระเบียบการ : ในช่วงเดือนพฤศจิกายน บางสถาบันจะเริ่มมีปล่อยระเบียบการของแต่ละปีออกมาแล้ว ให้น้อง ๆ เตรียมตัวศึกษาระเบียบการ ดูคณะ สาขาวิชา คุณสมบัติ เกณฑ์การพิจารณา จำนวนที่เปิดรับ และรายละเอียดอื่น ๆ ศึกษาให้ดี เพื่อเตรียมยื่นสมัครในช่วงเดือนธันวาคม

- เตรียมทำพอร์ตรูปแบบอื่น ๆ (กรณียื่นหลายคณะ ควรปรับรูปแบบพอร์ตให้ตรงกับคณะที่ยื่น) : ในรอบที่ 1 สามารถยื่นได้หลายที่ ติดได้หลายที่ แต่ต้องเลือกยืนยันสิทธิ์ที่เดียว ซึ่งน้อง ๆ ที่จะยื่นหลายคณะ หรือ หลายสถาบัน ควรเตรียมทำ Portfolio ไว้หลาย ๆ รูปแบบ ที่เหมาะกับคณะ สถาบันนั้น ๆ เพราะช่วงเวลารับสมัครของแต่ละที่ จะเป็นช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน 

- ช่วงโค้งสุดท้าย ถ้ายังไม่ได้เริ่มทำพอร์ต ให้รีบลงมือทำ  : เดือนพฤศจิกายน น้อง ๆ ที่ตั้งใจยื่นรอบ Portfolio แล้วยังไม่ได้เริ่มทำ ก็ควรรีบลงมือทำ เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายมาก ๆ ก่อนที่แต่ละสถาบันจะเปิดรับสมัครให้ยื่น


เดือนธันวาคม


- เช็กรูปแบบการยื่นพอร์ต และเตรียมให้พร้อมก่อนยื่น : อันนี้สำคัญมาก ในระเบียบการรับสมัคร แต่ละสถาบันจะมีกำหนดว่าให้ยื่น Portfolio รูปแบบไหน ซึ่งเราต้องยื่นรูปแบบให้ตรงกับที่สถาบันกำหนดด้วย เช่น 

แบบรูปเล่มแฟ้มกระดาษ A4, 

แบบไฟล์ดิจิทัล .pdf / .jpg / ไฟล์ VDO, 

แบบออนไลน์ ลิงค์ URL หรือ QR Code

- เตรียมยื่นส่ง Portfolio ตามคณะที่เลือก : เดือนธันวาคม เป็นช่วงเปิดรับสมัครรอบที่ 1 ของทุกสถาบัน โดยช่วงเวลารับสมัครจะขึ้นอยู่กับแต่ละที่กำหนด ต้องไปดูระเบียบการที่สมัครให้ดี บางที่เปิดรับสมัครยาวถึงช่วงเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ น้อง ๆ ที่สนใจรอบที่ 1 Portfolio ที่สำคัญเลยคือ ต้องติดตามและศึกษาระเบียบการสมัครอย่างรอบคอบ ! 



น้อง ๆ ใครตั้งเป้าอยากติดรอบ Portfolio ขอแนะนำ !

คอร์ส จับมือทำ Portfolio : Part 1 แนะนำรอบ Portfolio

คอร์สแนะแนว พาติดรอบ Portfolio แบบคนรู้ทันระบบ รู้วิธีเตรียมตัว และรู้ใจกรรมการ จุดไหนคือตัวตัดสินผล แล้วโฟกัสจุดนั้นมาปั้นให้เป็นคะแนนกัน

สมัครเลย https://vcourse.ai/courses/663



ดูข้อมูลการเตรียมตัวรอบ Portfolio ได้ที่ https://www.vlearn.world/education/category/65/TCAS