เช็กลิสต์ความเป็นหมอ ใช่หมอมั้ย ถามใจเธอดู EP. 1
3603 views | 05/07/2022
Copy link to clipboard
พี่นัท นัททยา
Content Creator

สวัสดีว่าที่คุณหมอในอนาคต วันนี้เรามาสแกนตัวตนในด่านวัดใจกัน เช็กลิสต์ความเป็นหมอ ใช่หมอมั้ย ถามใจเธอดู EP. 1 ทบทวนให้ชัวร์ให้ชัดก่อนจัดอันดับเลือกคณะแพทยศาสตร์ ว่าเราใช่หมอมั้ย ถามใจตัวเองไปพร้อมกันเลยค่ะ 



1. รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

     แน่นอนว่าคนเก่งทุกคน อาจไม่ได้เป็นหมอ แต่ที่แน่นอนกว่านั้นคือ หมอทุกคนต้องเป็นคนเก่งค่ะ เพราะด้วยลักษณะงาน คุณสมบัติของวิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการสูง เรียกได้ว่าเป็นคนที่มีความรู้คู่กับความฉลาด คือได้ทั้งเรื่องวิชาการและมีความฉลาดในการแก้ปัญหา ดังนั้นคุณสมบัติที่น้องควรมีคือ มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและมีสติปัญญาดี พร้อมรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา และตลอดชีวิต ต้องมีความถนัดและมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

     การเรียนแพทย์แตกต่างจากการเรียนในคณะอื่นๆ ตรงที่เนื้อหาวิชาที่เรียนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความก้าวหน้าทางการแพทย์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว งานวิจัย การค้นพบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย จะคิดว่าเรียนแค่ 6 ปี ก็เพียงพอต่อการเป็นหมอแล้ว แค่นั้นยังไม่พอสำหรับการประกอบอาชีพได้ตลอดชีวิต ดังนั้นนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องมีติดตัวน้อง ๆ ตลอดไป หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพราะถึงวันที่ได้เป็นหมอจริง ๆ หน้าที่หลักอีกอย่างของหมอคือ ต้องตามให้ทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ และความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น

     การเรียนรู้ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่ในตำราเท่านั้น แต่ควรเป็นการเรียนรู้จากการได้ฝึกปฏิบัติด้วย พี่จึงขอแนะนำว่า น้องที่อยากจะเรียนหมอควรผ่านการฝึกงานในโรงพยาบาลหรือการเป็นอาสาสมัครด้านสาธารณสุข จะช่วยให้น้อง ๆ ได้สัมผัสชีวิตจริง ได้เห็นการทำงาน และการแก้ปัญหาที่หมอต้องเจอ ไม่ใช่เรียนรู้แค่ในห้องเรียนหรือจากกูเกิ้ล แล้วบอกตัวเองว่า พร้อมแล้วเป็นหมอได้  

 

2. ขยัน อดทน มีวินัย มีความรับผิดชอบสูง

     นอกจากด่านแรกที่คนอยากเป็นหมอจะต้องผ่านด่าน คือการเป็นคนเก่งและฉลาดแล้ว ยังจะต้องเป็นคนที่มีความขยัน อดทน มีวินัย และมีความรับผิดชอบสูงอีกด้วย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การเรียนหมอนั้นเป็นสิ่งที่ยากกกกกกกก (ก.ไก่จะกี่ล้านตัวก็เติมกันเอง) และต้องใช้ความพยายามสูงมาก บางคนสอบเข้าไปได้ ดีใจได้ไม่กี่ปี ก็ต้องชิ่วย้ายคณะ เพราะไม่ต่อไม่ไหว ด้วยเนื้อหาวิชาที่เรียนมีจำนวนมาก ลึก กว้างและค่อนข้างยาก ดังนั้น จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียนให้ดีที่สุด แถมยังจะต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนนานกว่าคณะอื่น ๆ ถึง 6 ปีด้วยกัน

     น้อง ๆ คนไหนที่จะตัดสินใจเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ ต้องคิดให้ดีเสียก่อนเลยว่า เราจะเรียนไหวไหม ไม่ไหวบอกไหว แล้วสุดท้ายไปต่อไม่ได้ สิ่งที่ต้องคุยกับตัวเองให้ดีเลยคือ ตัวเรามีความขยันอดทนพอหรือเปล่า สามารถกำกับควบคุมตัวเองให้มีความรับผิดชอบ รักษาวินัยในการเรียน การค้นคว้า และการฝึกทักษะด้านต่าง ๆ เสริมเติมให้แก่ตัวเอง พร้อมทุ่มเททั้งการเรียน การหาความรู้ และการดูแลรักษาคนไข้ได้หรือไม่ อย่าลืมนะคะว่า การเรียนหมอในระดับคลินิกจะเป็นการเรียนควบคู่ไปกับการทำงานจริง ๆ ไม่ใช่เหมือนคณะอื่น ที่เรียนจบแล้วค่อยหางาน หรืออาจจะมีฝึกงานบ้างในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจบ แต่การเรียนหมอคือการเรียนไปทำงานไป การทำงานคือการเรียน การเรียนก็คือการทำงาน จึงยิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายมาก โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่หมอต้องรับผิดชอบต่อชีวิตคนไข้ ดังนั้นถ้าขยัน อดทน มีวินัยและรับผิดชอบไม่พอ โอกาสไปต่อมีปัญหาแน่นอนค่ะ

 

3. ละเอียด รอบคอบ ช่างสังเกต

     อาชีพหมอจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้ทางการแพทย์มาประกอบกับการสังเกต เก็บข้อมูลคนไข้อย่างละเอียดถี่ถ้วน วินิจฉัยอาการป่วยและแนวทางการรักษาย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของการทำหน้าที่ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่สอบถามประวัติจากผู้ป่วย อาการของโรค รวมทั้งลักษณะชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทั้งการทำงาน สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน จากนั้นก็ทำการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยโรค วางแผนแนวทางการรักษา ซึ่งแน่นอนว่าในทุกขั้นตอนต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการทำงาน บางครั้งพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนไข้ อาจส่งผลต่อสาเหตุของโรค การวินิจฉัยและรักษาโรค        

     ในชีวิตการทำงานจริง ๆ ของหมอ เมื่อคนไข้มาหาหมอ เล่าอาการป่วยให้หมอฟัง หมอก็ต้องซักถามให้ละเอียด ถามให้เจอคำตอบที่หมอตั้งข้อสงสัย แล้วหมอต้องมาดูต่อว่าจะส่งอะไรตรวจบ้าง เพื่อแยกโรค ตรงนี้ถ้าไม่ละเอียดรอบคอบ เช็กให้ตรงจุด ก็จะเกิดผลเสียต่อคนไข้ และเมื่อได้ผลตรวจมาก็นำมาวินิจฉัย ให้การรักษา โดยออกแบบการรักษาว่าจะใช้อะไรบ้าง แพ้ยาอะไร และวางแผนการรักษาเพื่อให้เหมาะกับคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ น้ำหนัก ไหนจะโรคแทรกซ้อนอื่นที่ต้องระมัดระวัง เห็นมั้ยคะ จุดนี้ถ้าไม่ละเอียด เสร็จเลย คนไข้ไม่ปลอดภัยแน่นอน

     ดังนั้นการช่างสังเกตเก็บรายละเอียดให้มากที่สุด จึงช่วยทำให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น ถ้าน้อง ๆ อยากจะเป็นหมอ จำเป็นจะต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นคนมีความละเอียดรอบคอบ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย หรือไม่กี่ครั้ง อาจส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วย ยิ่งในช่วงเวลาวิกฤติ ความเป็นความตายของคนไข้ ความละเอียดรอบคอบจะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในทุกนาทีของการรักษา ในทุกการวินิจฉัย การตัดสินใจต่าง ๆ ตลอดทั้งกระบวนการในการรักษา ดังนั้นการป้องกันความผิดพลาดที่ดีที่สุด ไม่ใช่ความเก่ง ไม่ใช่ความสามารถ แต่คือความละเอียดรอบคอบของหมอนั่นเอง 

 

4. มีทักษะการบริหารเวลาที่ดี

     การบริหารเวลาเป็นความสามารถในการวางแผนและจัดการการใช้เวลาในแต่ละวันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คนที่จะเรียนหมอได้ การบริหารเวลาต้องเลิศ เพราะกิจวัตรในแต่ละวันตั้งแต่การเรียนเนื้อหาวิชาการในชั้นพรีคลินิกและการเรียนแบบปฏิบัติจริงในโรงพยาบาลในชั้นคลินิก ล้วนต้องเรียนและทำงานแข่งกับเวลา การบริหารเวลาอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้งานหรือกิจกรรมต่าง ๆ เสร็จทันเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งหมอเรียนหนักมาก จึงทำให้หมอเกิดความเครียดได้ง่าย การบริหารเวลาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้การเรียนของน้อง ๆ มีเวลาเหลือในการพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ซึ่งจะช่วยลดความเครียด และความกดดันต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเรียนและการทำงาน

     เรื่องจริงก็คือ ไม่ว่าน้องจะเรียนสาขาไหน คณะใด จะเรียนยากเรียนง่าย เรียนสนุกหรือเรียนเครียดต่างกันแค่ไหน แต่สิ่งที่มีเท่ากันคือเวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วัน หากน้อง ๆ ไม่สามารถจัดสรรเวลาที่มีให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ จะส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน สุขภาพ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การฝึกบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเรื่องแบบนี้น้องต้องมี ต้องฝึก ต้องพัฒนาตั้งแต่ก่อนจะเลือกเรียนหมอ ไปรอปรับตัวตอนสอบติดแล้ว เสี่ยงมากที่จะบริหารเวลาไม่ได้ และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการเรียนและการใช้ชีวิตของน้อง ๆ แน่นอน

 

5. เสียสละและมีเมตตา

     คนที่เหมาะสมที่จะเรียนหมอไม่ใช่แค่มีผลการเรียนดีหรือรักการเรียนรู้เท่านั้น แต่นิสัยและบุคลิกภาพที่เหมาะสมเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า เพราะหมอเป็นอาชีพที่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน และความสูญเสียของคนไข้ ดังนั้นคนที่จะเป็นหมอควรเป็นคนที่มีความเมตตา มีความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะต่อผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยก็ตาม และในการทำงานที่ไม่เป็นเวลา อาจจะรบกวนเวลาส่วนตัว ไม่มีเวลาพักผ่อน พร้อมที่จะถูกตามตัวไปดูแลคนไข้ได้ตลอดเวลาในยามที่คนไข้เกิดภาวะวิกฤต ความเสียสละ เห็นประโยชน์ของผู้อื่นสำคัญกว่าประโยชน์ตน ถือเป็นคุณสมบัติที่สูงส่งของคนเป็นหมอ เพราะลำพังแค่ค่าตอบแทนหรือแรงจูงใจในการเรื่องความก้าวหน้าทางอาชีพอย่างเดียว คงไม่สามารถดึงดูดให้คนจบหมอ สามารถเป็นหมอต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าปราศจากความเสียสละและความมีเมตตา

        

     ผ่านมาแล้ว 5 ข้อ น้อง ๆ ที่อยากเป็นหมอมีครบมั้ยคะ ถ้าครบแล้ว ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะเรายังมีอีก 5 ข้อ รอน้อง ๆ อยู่ใน EP ต่อไป มาเช็กลิสต์ความเป็นหมอในตัวเองให้ครบทั้ง 10 ข้อ และถ้าใครมีครบแล้ว ไปลุยต่อกับคอร์สวิชาต่าง ๆ ของ VLCORSE เพื่อเตรียมตัวเป็นหมอกันได้เลย 

 

พี่นัท นัททยา