TCAS เปลี่ยนแปลง Dek66 ต้องปรับตัวอย่างไร
1196 views | 18/07/2022
Copy link to clipboard
พี่นัท นัททยา
Content Creator

          Dek66 พร้อมมั้ยกับ TCAS ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการยกเครื่องการสอบใหม่ทั้งหมด ทั้งการเปลี่ยนวิชาสอบ รูปแบบการสอบ และกรอบเนื้อหา เมื่อตัวระบบเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าผู้เข้าร่วมแข่งขันจำเป็นต้องปรับตัวตาม ว่าแต่น้อง ๆ จะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย



  

1. เสริมความถนัด เติมความสามารถพิเศษ เพื่อเตรียมรอบ Portfolio ที่เปิดรับเพิ่มขึ้น

          เรียกว่าเป็นรอบยอดนิยม ทั้งฝั่งของมหาวิทยาลัยที่ชื่นชอบการรับในรอบ Portfolio ด้วยเหตุผลที่ว่า ได้เด็กที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ มีความสามารถ และมีความสนใจสอดคล้องกับสาขาที่เปิด ฝั่งตัวเด็กก็ชอบรอบนี้ เพราะไม่ต้องใช้คะแนนสอบ ใช้ประสบการณ์ กิจกรรม ความสนใจ และความสามารถเข้าแข่งขัน เป็นความพึงพอใจที่ตรงกันทั้งสองฝ่าย ทำให้ปีนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จะขยับปรับที่นั่งรอบ Portfolio ให้เพิ่มขึ้น ดังนั้นน้อง ๆ ที่อยากติดก่อน เลือกที่เรียนก่อน คงต้องเร่งรีบเตรียมตัวเสริมความถนัด เติมความสามารถพิเศษให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ชัดเจนขึ้น และที่สำคัญฟาดมากขึ้น เพื่อพร้อมสับสำหรับการแข่งขันที่จะเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับที่นั่งที่มากขึ้นด้วย

 

 2. ให้ความสำคัญกับ Skills เพราะใช้ทั้งในข้อสอบและในชีวิต

          Skills หรือทักษะ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการเป็นอาวุธคู่กายของน้อง ๆ ทั้งอาวุธในการสอบและอาวุธในการใช้ชีวิต เพื่อทำงานสร้างอนาคตและไล่ล่าเป้าหมายชีวิตด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจุบันโลกเดินทางเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แน่นอนว่าทักษะที่จำเป็นและเหมาะสมกับบริบทของสังคมและเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าน้อง ๆ มัวแต่ก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสืออย่างเดียว ทำแต่คะแนนสอบ โดยไม่สนใจสร้างทักษะ รับรองเลยว่า งานนี้ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดแน่นอน ดังนั้นต้องหาโอกาส หาเวทีสำหรับเติมทักษะ บางคนอาจจะเข้าใจว่าทักษะเป็นเรื่องของพรสวรรค์ แต่ความจริงแล้ว พรแสวงต่างหากที่ช่วยทำให้เรามีทักษะที่เหมาะสมครบถ้วน อย่ายกหน้าที่นี้ให้โชคชะตา ที่เป็นผู้กำหนดพรสวรรค์ให้เรา แต่จงหยิบมาเป็นหน้าที่เรา ที่ต้องเติมสิ่งเหล่านี้ให้ตัวเอง

 

3. เข้าใจระบบ รู้ทันข้อสอบใหม่

          ถ้าเป็นการแข่งขันกีฬา เล่นกีฬาประเภทไหน สนามใด เราต้องรู้กติกา เทคนิค และแทคติกสำหรับการเล่นและการแข่งขันนั้น สำหรับสนาม TCAS เป็นสนามแข่งที่มี Dynamic หมายถึง มีการปรับเปลี่ยน เคลื่อนไหว แก้ไขไม่หยุดนิ่งอยู่ตลอด เพื่อให้ตอบโจทย์ตามยุคสมัยและแก้ปัญหาในอดีตที่ผ่านมา แต่ก็นั่นล่ะ การพยายามแก้ปัญหาเก่า อาจนำมาซึ่งปัญหาใหม่ก็ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้น้อง ๆ รู้สึกเครียด กดดัน แต่ยุคนี้อะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่รอดได้หรือ โลกหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วเท่าเดิมตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงเรากลับรู้สึกว่า โลกกำลังหมุนเร็วขึ้น สิ่งใหม่เกิดขึ้นรวดเร็ว และสิ่งเก่าก็จากไปอย่างรวดเร็วขึ้น ทุกอย่างเร็วไปหมด ระบบการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ดังนั้นหน้าที่ของเราคือรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ เปลี่ยนข้อสอบใหม่หมด การรู้ว่าข้อสอบเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนทำไม จะช่วยทำให้เรารู้ทันข้อสอบ และเตรียมตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าข้อสอบจะเรียกชื่ออะไร ออกมาในรูปแบบไหน เนื้อหาเป็นอะไร เราจะต้องเอาชนะมันให้ได้

 

4. เรียนพิเศษอย่างมีกลยุทธ์ เลือกให้ตรงเป้า

          การเปลี่ยนข้อสอบยกชุดแบบนี้ อาจทำให้น้อง ๆ หลายคนรู้สึกไม่มั่นใจ เดาทางข้อสอบไม่ถูก แม้ว่าจะเห็น Exam Blueprint ของแต่ละวิชาแล้วก็ตาม แต่ด้วยความที่เป็นของใหม่ บางวิชายังไม่มีคะแนนเปรียบเทียบ และยังไม่เคยเห็นหน้าตาของข้อสอบจริง ๆ ยิ่งทำให้ความกังวลเพิ่มมากขึ้น แนวทางแก้ปัญหาที่นิยมทำกันคือ การเรียนพิเศษ หาตัวช่วยจากบรรดาติวเตอร์ต่าง ๆ ที่ตามแกะรอยข้อสอบอย่างใกล้ชิดติดขอบสนาม เพื่อนำข้อมูลใหม่ ๆ มาเสิร์ฟเสริมความมั่นใจให้แก่น้อง ๆ แต่ทั้งนี้ต้องรู้เท่าทันกันด้วยนะคะ ไม่ใช่บอกว่าคอร์สไหนดี ก็ว่าดีทันที ต้องรู้จักพิจารณาเลือกคอร์สที่ตอบโจทย์ของตัวเอง อาจจะเรียนเพื่อซ่อมจุดอ่อน หรือเสริมจุดแข็ง เรียนเพื่ออัปเกรด GPAX หรือเรียนเพื่อลุยสนามสอบต่าง ๆ รู้จักวางกลยุทธ์ในการเรียนพิเศษ ทั้งนี้เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณของคุณพ่อคุณแม่ และยังช่วยทำให้เราไม่เหนื่อยกับการเรียนจนเกินไป มีเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ มีความสุข และเสริมทักษะแห่งอนาคต    

 

5. รู้จักตัวเองให้เร็วที่สุด ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้วางแผนเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น

          ช่วงเวลา TCAS ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต สิ่งที่สำคัญที่สุดของช่วงเวลานี้คือ การค้นหาตัวเองให้เร็วที่สุด ยิ่งพบคำตอบได้เร็วเท่าไหร่ การตั้งเป้าหมายและวางแผนสู่ความสำเร็จจะยิ่งชัดเจนและตรงเป้า ไม่ต้องเสียเวลาสอบในวิชาที่ไม่ได้ใช้ หรือเลือกคณะสาขาผิด ๆ ถูก ๆ เลือกอย่างไร้จุดหมาย สุดท้ายพอไปเรียนจริง ๆ ไม่ชอบบ้าง เรียนไม่ไหวบ้าง และในที่สุดก็ซิ่วเสียเวลาไปอีกปีเป็นอย่างน้อย นี่ยังไม่นับการทนเรียนไปจนจบ 4 ปี แล้วพอถึงเวลาทำงานก็ยังวนลูปค้นหาตัวเองต่อไป งานนี้ก็ไม่ชอบ งานนั้นก็ไม่ใช่ งานโน้นก็ไม่ถูกใจ สุดท้ายชีวิตเดินหน้าถอยหลัง ถอยหลังเดินหน้า รู้ตัวอีกที อ้าวยืนอยู่ที่เดิมนี่หว่า! ใครเจอแบบนี้บอกเลยว่าเสียเวลาในชีวิตมาก ดังนั้น ใช้เวลา ม.ปลายให้คุ้มค่า กับการค้นหาตัวเองและวางแผนชีวิต แต่ขณะเดียวกันต้องมีความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ชีวิตที่อาจเปลี่ยนแปลงไป

 

6. อย่าทิ้งภาษาอังกฤษเด็ดขาด Item หลัก ทั้งในข้อสอบและการทำงาน

          การปรับข้อสอบครั้งใหม่นี้ ภาษาอังกฤษยังคงเป็นหัวใจหลักที่ทุกคนหนีไม่พ้น โดยเฉพาะวิชา TGAT พาร์ต 1 นอกจากนี้ในวิชา A-Level ก็มีวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเกือบทุกคณะเรียกหาคะแนนทั้งสองส่วนนี้ ไม่เว้นแม้แต่รอบที่ 1 Portfolio ที่ปีนี้มีการปรับรูปแบบการคัดเลือกให้สามารถใช้คะแนน TGAT เป็นส่วนประกอบของการพิจารณา (ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยกำหนด) และหากใครถนัดภาษาอังกฤษยังสามารถเพิ่มออปชันการเข้ามหาวิทยาลัยได้อีก เช่น สมัครหลักสูตรอินเตอร์ สมัครชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ และถ้ามองให้ไกลไปจนถึงการทำงาน บอกเลยว่าภาษาอังกฤษ กลายเป็นภาษาพื้นฐานที่น้อง ๆ จะต้องเจอ ต้องใช้ และสามารถเป็นแต้มต่อในการทำงาน วัดผลงาน และสร้างการเติบโตในเส้นทางอาชีพ ทั้งในแบบทำงานในองค์กร หรือทำงานอิสระก็ตาม โลกทุกวันนี้เชื่อมโยงกันและสื่อสารกันด้วยภาษา ดังนั้นถ้าใครคิดจะทิ้งภาษาอังกฤษ ก็เปรียบเสมือนกับว่าน้องเลือกตัดโอกาสที่ดีในชีวิตไปแล้วเกินครึ่งเลยทีเดียว  

 

7. วางแผนดี มีวินัย มีชัยแน่นอน  

          ความฝันเป็นจินตนาการที่สวยงาม แต่จะดีกว่าความสวยงาม ถ้าความฝันนั้นคือความจริง และพี่อยากให้น้อง ๆ ได้สัมผัสความรู้สึกแบบนั้น คือการที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราออกแบบและวางแผนให้ชีวิตเราเอง แต่กว่าจะถึงวันนั้น บอกเลยว่าไม่ง่าย และไม่ได้รวดเร็วอย่างใจฝัน ที่นึกอยากจะออกแบบวาดภาพให้ตัวเองเป็นอะไร ก็มโนขึ้นมาได้ ความจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความเป็นไปได้ ดังนั้นการวางแผนที่ดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง โดยมีวินัยเป็นผู้คุมกฎที่เข้มงวด คอยกระตุ้นให้ทำตามแผน และคอยเตือนเมื่อเราจะทำอะไรนอกเส้นทางที่อาจทำให้แผนที่วางไว้ล้มเหลวได้ พี่บอกได้เลยว่า ถ้าน้องวางแผนมาดี และมีวินัยที่เข้มแข็ง ความอ่อนล้า ความท้อแท้ ความเหนื่อย และความเครียด ทำอะไรน้องไม่ได้แน่นอน! 

 

8. เกาะติดข่าว Insight & In trend

          การจะจัดการ TCAS ให้อยู่หมัด น้อง ๆ จำเป็นต้องรู้ทันทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้ลึกและรู้จริง มีข้อมูลประกอบที่รอบด้านมากพอ ไม่ใช่รู้แค่เพียงตัวระบบเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจบริบทอื่นประกอบด้วย เช่น รู้จักตัวตนอย่างลึกซึ้งแท้จริง รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลและสามารถปรับตัวใช้ประโยชน์จากมันได้มากที่สุด รู้ข้อมูลสาขา คณะต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ หาข้อมูลเชิงลึกมาช่วยทำให้ตัวเองตัดสินใจและวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ ได้รอบด้าน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของชีวิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนรู้ทันเทรนด์ของอาชีพต่าง ๆ ที่อาจเสี่ยงต่อการล้มหายตายจากไป และพร้อมรับมือกับอาชีพที่กำลังจะเกิดใหม่ในโลกดิจิทัล และไม่ว่า TCAS จะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ความเป็นคน Insight และ In trend ของน้อง ๆ จะทำให้น้องเป็นคนที่ทันคน ทันงาน และทันโลกอย่างแน่นอน

 

          การปรับระบบ TCAS ไม่ใช่หน้าที่เราที่เป็นคนกำหนดความเปลี่ยนแปลงนั้น แต่การจะปรับตัวอย่างไรให้สามารถสู้ศึก TCAS ได้อย่างผู้ชนะ นั่นล่ะ คือหน้าที่และความรับผิดชอบที่เราต้องเป็น

ผู้กำหนด และสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น ช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้สู้ได้ลุยได้ทำอะไรสุด ๆ เพื่อความฝันและเป้าหมายของตน พี่นัทว่ามันเป็นฟีลลิ่งที่โคตรสุดยอดเลย หวังว่าน้อง ๆ จะมีโมเมนท์ที่ดี ๆ ใน TCAS ของตัวเองนะคะ  

 

พี่นัท นัททยา