5 เรื่องที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ก่อน “เล่นหุ้น”
2720 views | 15/03/2022
Copy link to clipboard
Koii Nopnok
Content Creator

อยากเริ่มเล่นหุ้น เป็นนักลงทุนมือใหม่ควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี ? ถือเป็นคำถามยอดฮิตของกลุ่มมือใหม่หัดเล่นหุ้น เพราะในตลาดหุ้นที่มีหุ้นอยู่มากกว่า 700 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565) ก็คงทำให้เราตัดสินใจไม่ถูกหรือลังเลว่าจะซื้อหุ้นตัวไหนดี บทความนี้จะมาแชร์ 5 เรื่องสำคัญที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ก่อนเริ่มเล่นหุ้น ตั้งแต่เรื่องของการยอมรับความเสี่ยง สไตล์การลงทุน ประเภทของหุ้น ช่องทางการเปิดพอร์ต และเราจะทำเงินจากการลงทุนในหุ้นได้อย่างไร



1. เข้าใจความเสี่ยงก่อนเริ่มลงทุน

ก่อนที่จะเริ่มเล่นหุ้น เราควรสำรวจตัวเองให้ดีก่อนว่า “เรายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน” 


  • รับความเสี่ยงได้ต่ำ (Conservative) คือ เรายอมรับความผันผวนได้น้อยหรือไม่ได้เลย เวลาจะลงทุนอะไรก็มักให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นให้ปลอดภัยที่สุด


  • รับความเสี่ยงได้ปานกลาง (Moderate) คือ เรายอมรับความผันผวนได้ในระดับหนึ่งเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่ไม่มากจนเกินไป


  • รับความเสี่ยงได้สูง (Aggressive) คือ เรายอมรับความผันผวนได้เต็มที่เพื่อแลกกับผลตอบแทนระดับสูง เรียกว่าเป็นนักลงทุนที่เน้นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงแต่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงตามมา หรือ High risk, High return


สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะประเมินตัวเองยังไงดี แนะนำให้ลองทำ >> แบบทดสอบระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ << ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งจะช่วยให้เราประเมินตัวเองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น



2. รู้จักสไตล์การลงทุน

การรู้จักสไตล์การลงทุนจะช่วยให้เรารู้ว่าตัวเองเหมาะกับการลงทุนแบบไหน ซึ่งกลยุทธ์ในการลงทุนที่ถูกต้องและเหมาะกับตัวเราจะสามารถนำไปสู่ผลตอบแทนในระยะยาวได้ สไตล์การลงทุนแบ่งออกได้เป็น 3 สไตล์ ดังนี้


  • นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) เป็นนักลงทุนที่มีความเชื่อว่าการซื้อหุ้นคือการซื้อกิจการหรือการเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการ และมองว่าไม่ช้าก็เร็วผลประกอบการของบริษัทจะสะท้อนผ่านราคาหุ้น ซึ่งบางครั้งอาจใช้เวลาเป็นปีกว่าราคาหุ้นจะสะท้อนผลประกอบการที่แท้จริง นักลงทุนประเภทนี้จึงต้องมีความอดทน ไม่อ่อนไหวกับราคาที่ขึ้นลงในระยะสั้น และต้องศึกษาปัจจัยพื้นฐานของหุ้น เช่น ลักษณะธุรกิจ ทิศทางธุรกิจ ฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน ฯลฯ 

 

  • นักลงทุนแนวโมเมนตัม (Momentum Investor: MI) เป็นนักลงทุนที่เน้นเทรนด์ขาขึ้นของตลาด มักจะลงทุนตามทิศทางเงินทุนไหลเข้า (fund flow) ด้วยการสังเกตยอดซื้อสุทธิของต่างชาติ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจโดยรวม นักลงทุนแนว MI จะไม่ค่อยถือยาว และจะไม่ยอมติดหุ้น โดยจะมีจุดตัดขาดทุน (cut loss) ที่ชัดเจนเพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงเสมอ

 

  • นักลงทุนแนวเทคนิค (Technical) นักลงทุนแนวนี้จะมีความสนใจในพฤติกรรมของราคาหุ้นที่สะท้อนผ่านเฉพาะกราฟราคาหุ้น (chart) โดยจะใช้ข้อมูลราคาหุ้นในอดีต ปริมาณการซื้อขาย และเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคและอินดิเคเตอร์ (indicator) ต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ทิศทางราคาหุ้น 

 

ถ้าหากยังไม่แน่ใจว่าสไตล์การลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับเรา แนะนำให้ลองทำแบบทดสอบ >> ค้นหาสไตล์การลงทุนของคุณ << เพื่อดูว่าเราเหมาะกับสไตล์การลงทุนแบบไหน



3. ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและประเภทของหุ้นให้ดี

การรู้จักหุ้นที่เราต้องการลงทุน รู้ว่าหุ้นนั้นเป็นประเภทไหน เช่น โตเร็วหรือโตช้า มีเงินปันผลไหม เป็นต้น จะช่วยให้เราเลือกลงทุนในหุ้นที่โดนใจและตรงกับความต้องการของเราได้ นักลงทุนชื่อดังอย่าง “ปีเตอร์ ลินซ์” (Peter Lynch) ก็ได้แบ่งประเภทหุ้นออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้ 

 

1. หุ้นโตช้า (Slow Growers) เป็นหุ้นที่ธุรกิจค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว แต่ยังจ่ายปันผลดีสม่ำเสมอ 


2. หุ้นแข็งแกร่ง (Stalwarts) เป็นหุ้นที่มีธุรกิจเติบโตเรื่อย ๆ ไม่หวือหวา เป็นหุ้นที่มีความปลอดภัยและอยู่รอดได้แม้จะเกิดวิกฤตอะไรก็ตาม 


3. หุ้นเติบโต (Fast Growers) เป็นหุ้นที่อยู่ในช่วงขยายธุรกิจ มีศักยภาพในการเติบโต จึงมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาไม่นาน

 

4. หุ้นวัฏจักร (Cyclical) เป็นบริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าเกษตรต่าง ๆ ที่มีรายได้และกำไรขึ้นลงเป็นฤดูกาลตามภาวะเศรษฐกิจและราคาของสินค้าที่จำหน่าย 


5. หุ้นฟื้นตัว (Turnaround) เป็นบริษัทที่เคยมีผลประกอบการแย่หรือขาดทุน แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จึงมีโอกาสทำกำไรได้มาก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน


6. หุ้นสินทรัพย์มาก (Asset Play) เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ที่ยังไม่รับรู้มูลค่าเต็มที่ซ่อนอยู่ในงบดุล เช่น ที่ดิน เงินสด หรืออื่นๆ เป็นต้น ถ้าหากมีการรับรู้มูลค่าของสินทรัพย์ดังกล่าวก็มีโอกาสที่มูลค่าหุ้นจะปรับสูงขึ้นตาม



4. เปิดพอร์ตหุ้นที่ไหนดี มีเงินหลักร้อยลงทุนได้ไหม

ก่อนจะเริ่มเล่นหุ้นได้ แน่นอนว่าเราต้องเปิดบัญชีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ก่อน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เปิดพอร์ต” ซึ่งขั้นตอนในการเปิดพอร์ตก็ทำได้ง่ายมาก ๆ เพราะปัจจุบันสามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้เกือบทุกโบรกเกอร์ ส่วนประเภทบัญชีในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้


  • บัญชีเงินฝาก (Cash Balance Account) เป็นบัญชีที่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ คือมีเงินหลักร้อยก็ลงทุนได้ เพราะสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 500 บาท โดยสามารถซื้อหลักทรัพย์ได้เท่ากับจำนวนเงินที่นำมาฝาก ขอสรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อหุ้นได้เท่ากับเงินที่เรามีอยู่ในบัญชี เช่น ในบัญชีมีเงิน 5,000 บาท เราก็สามารถซื้อหุ้นได้ 5,000 บาท


  • บัญชีเงินสด (Cash Account) เป็นบัญชีที่ต้องชำระค่าหลักทรัพย์เต็มจำนวนด้วยเงินสด โดยโบรกเกอร์จะพิจารณาอนุมัติวงเงินที่เราจะสามารถใช้ซื้อหลักทรัพย์จากหลักฐานการเงิน แต่จะต้องฝากเงินเพื่อเป็นหลักประกัน (15%) และจะต้องชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ซื้อหลักทรัพย์


  • บัญชีเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance Account) เป็นบัญชีเงินกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งต้องเสียอัตราดอกเบี้ยตามที่โบรกเกอร์กำหนด โดยเราจะต้องวางเงินสดหรือหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นประกัน ทั้งนี้รายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของแต่ละโบรกเกอร์อาจแตกต่างกัน 


เอกสารเบื้องต้นในการขอเปิดพอร์ตหุ้นแบบออนไลน์ 

  • บัตรประชาชน
  • สมุดธนาคาร (ใช้สำหรับรับเงินปันผล หรือผูกกับพอร์ตเพื่อเติมเงิน)


เมื่อเปิดบัญชีสำเร็จแล้ว เราก็จะได้ชื่อบัญชี (Usename) และรหัสผ่าน (Password) สำหรับใช้ในการส่งคำสั่งซื้อ-ขาย และติดตามพอร์ตการลงทุน ซึ่งเราสามารถทำการซื้อขายในมือถือได้ผ่านแอปพลิเคชัน Streaming หรือแอปของโบรกเกอร์ที่เราเปิดบัญชี เช่น เปิดบัญชีกับหลักทรัพย์กสิกรไทยก็สามารถใช้แอป K-Cyber Trade ในการเล่นหุ้นได้ เป็นต้น


ส่วนข้อสงสัยที่ว่าจะเปิดพอร์ตกับที่ไหนดี แนะนำว่าให้เปรียบเทียบอัตราค่านายหน้า (Commission) ว่าเราพอใจกับอัตราค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของโบรกเกอร์ไหน รวมถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เราจะได้รับ ทั้งนี้สามารถสอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้กับทางโบรกเกอร์โดยตรง



5. เราจะได้อะไรจากการลงทุนในหุ้น

การลงทุนในหุ้น (Stock) คือ การที่เราเข้าซื้อหรือถือหุ้น ซึ่งจะทำให้เรามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการตามสัดส่วนในการถือครอง เราสามารถเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นได้ และยังจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล (Dividend) และกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น (Capital gain) ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นนั้นจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น ๆ จุดเด่นของสินทรัพย์ลงทุนประเภทนี้คือความหลากหลายทั้งในด้านของความเสี่ยงและผลตอบแทน 


ส่วนใครที่ยังคิดไม่ตกว่าจะลงทุนในหุ้นดีไหม หรือมือใหม่ที่อยากทดลองเล่นหุ้นก่อนลงสนามจริง เราขอแนะนำแอปพลิเคชัน “Streaming Click2Win” แอปที่จะช่วยให้เราได้ทดลองซื้อ-ขายหุ้นแบบสมจริง ถือเป็นแอปที่เหมาะกับมือใหม่หัดเล่นหุ้นมาก ๆ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ 



ที่มาข้อมูล

  • https://www.setinvestnow.com/th/stock/investment-styles
  • https://www.setinvestnow.com/th/stock
  • https://www.set.or.th/education/th/begin/stock_content01.pdf
  • http://www.plookfriends.com/blog/content/detail/89652