ข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่คนทำงานมีรายได้ต้องรู้ !
2897 views | 24/03/2022
Copy link to clipboard
Content Creator

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใด ๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป


สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณีกฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย



ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี


  • ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทเงินเดือนค่าจ้างที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)


- กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

- กรณีที่มีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 120,000 บาท


  • ผู้มีเงินได้จากการทำธุรกิจการค้าทั่วไปที่มิใช่เกิดจากการจ้างแรงงานที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)


- กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 120,000 บาท

- กรณีมีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกันเกิน 220,000 บาท


  • กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่แบ่งเกิน 60,000บาท
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเกิน 60,000 บาท



ประเภทของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


ผู้ที่ต้องชำระภาษี จะต้องมีการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อเป็นการแสดงหลักฐานการเสียภาษีตามกฎหมาย สำหรับแบบยื่นภาษีนั้น เราจะเรียกว่า "ภ.ง.ด." ย่อมาจาก ภาษีเงินได้ ซึ่งการยื่นแบบภาษีแต่ละชนิดนั้น จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ผู้ที่จะทำการยื่นภาษีออนไลน์ต้องมีความเข้าใจความแตกต่างของ ภ.ง.ด แต่ละประเภท


โดย ภ.ง.ด. สำหรับ “บุคคลธรรมดา” มี 4 ประเภท ได้แก่


ภ.ง.ด. 90 คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป เช่น รายได้จากการมีทรัพย์สินให้เช่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีกิจการเป็นของตัวเอง ต้องยื่นแบบฯ ในระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคมของทุกปี

 

ภ.ง.ด. 91 คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน ต้องยื่นแบบฯในระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคมของทุกปี 

 

ภ.ง.ด. 93 สำหรับขอชำระภาษีล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบตามปกติ

 

ภ.ง.ด. 94 เป็นรูปแบบการยื่นแสดงภาษีแบบครึ่งปี สำหรับเงินได้ ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน รายได้จากค่าเช่า รายได้ค่านายหน้า รายได้ค่ารับเหมา รายได้จากการค้าขาย เป็นต้น และต้องยื่นแบบฯ ในระหว่างเดือน กรกฎาคม - 30 กันยายนของทุกปี



ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 คืออะไร และต่างกันอย่างไร


  • ภ.ง.ด.90 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ถึง (8) หลายประเภทหรือประเภทเดียว โดยต้องยื่นแบบภายใน 31 มีนาคมของทุกปี
  • ภ.ง.ด.91 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ประเภทเดียว ที่ได้จากการจ้างงาน ต้องยื่นภายใน 31 มีนาคมของทุกปี


ทั้ง ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด.91 ต่างก็เป็นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาเหมือนกัน ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า คุณมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ถ้าคุณเป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องทราบประเภทของรายได้ เพื่อจะได้ยื่นแบบไม่ผิดพลาด จำง่าย ๆ คือ มนุษย์เงินเดือนอย่างเดียวใช้แบบ ภ.ง.ด.91 นอกนั้นใช้แบบ ภ.ง.ด.90



บุคคลใดบ้างที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91


สำหรับผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 มีดังนี้

1. บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส ที่มีเงินได้เกิน 60,000 บาท

2. บุคคลที่เป็นสามี ภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท

3. ทรัพย์สินมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่งมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

4. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท

5. บุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท

6. วิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท หรือ 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้


สำหรับผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 มีดังนี้

1. บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส มีเงินได้เกิน 120,000 บาท

2. บุคคลที่เป็นสามี ภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 220,000 บาท


เงินได้ที่ว่านั้น ได้แก่ เงินที่ได้ จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ได้จากการที่นายจ้างให้อยู่บ้านเช่าโดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ได้จากการที่นายจ้างจ่ายหนี้สินให้ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆก็ตามที่ได้จากการจ้างงาน เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวสาเหตุเพราะออกจากงานรวมทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่มีระยะเวลาการทํางานน้อยกว่า 5 ปี  



หมายเหตุ

- กรณีที่ออกจากงานและนายจ้างจ่ายเงินให้ครั้งเดียวรวมทั้งเงินชดเชยเงิน ที่มีระยะเวลาการทํางาน 5 ปี ขึ้นไป สามารถเลือกนํามารวมกับภาษีกับเงินได้อื่น ๆ


- กรณีที่ออกจากงานและนายจ้างจ่ายเงินให้ครั้งเดียวแล้วเลือกที่จะไม่นําเงินที่ได้มารวมกับภาษีกับเงินได้อื่น ให้แสดงรายการในใบแนบและยื่นมาพร้อมกับ แบบ ภ.ง.ด.91 ด้วย