Live Streaming (ไลฟ์ สตรีมมิ่ง) พูดให้เข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ การรับส่งสัญญาณ ถ่ายทอดไฟล์มัลติมีเดียทั้งภาพและเสียงผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีการดาวน์โหลดไฟล์ก่อน เช่น การไลฟ์บน Facebook, YouTube และ IG ด้วยเทคนิคการไลฟ์สดนี้เองทำให้เราสามารถดูวิดีโอที่กำลังถ่ายอยู่อีกที่หนึ่งหรืออีกซีกโลกหนึ่งได้ในเวลาไล่เลี่ยกันผ่านคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต รวมไปถึงสมาร์ททีวี ยกตัวอย่างชัด ๆ เลยอย่างการที่เราดูไลฟ์สดงานเทศกาลดนตรี Coachella ดู Fashion Show การเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ของ Louis Vuitton หรือแม้กระทั่งดูพิมรี่พายขายของในเฟซบุ๊ก
การไลฟ์สดเพื่อดูการถ่ายทอดสดฟุลบอลหรือว่ากีฬา เป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่แล้วว่ามีอยู่ แต่หมวดหมู่ที่กำลังมาแรงที่สุดในการไลฟ์สดกลับเป็นการไลฟ์เพื่อการขาย (Livestreaming e-Commerce) ซึ่งการไลฟ์สดขายของเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว และเป็นที่นิยมมากมาก่อนกาลในประเทศจีน ก่อนจะแพร่มายังประเทศไทย โดยพบว่าผู้ซื้อสินค้าออนไลน์หรือนักช้อปชาวจีนกว่า 710 ล้านคน มีส่วนร่วมในการขายปลีกออนไลน์ของจีนถึง 10 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 45 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของยอดค้าปลีกทั้งหมดของจีน และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2017 – 2019 (CAGR) ถึงร้อยละ 24 ต่อปี (จากรายงานของบริษัท Nielsen)
แต่ถึงแม้การไลฟ์สดจะเติบโตไปได้ดี แต่ผู้บริโภคหลายคนก็ยังคงมีอคติบางอย่างเกี่ยวกับการซื้อของผ่านไลฟ์สด มีหลายคนลังเลที่จะซื้อสินค้าผ่านไลฟ์สดเนื่องจากไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้า การบริการหลังการขาย การให้ส่วนลดที่น่าสนใจน้อยกว่า รวมถึงการไม่สามารถยอมรับสินค้าที่มีการแนะนำผ่านไลฟ์สดได้ ทั้งนี้ก็มีคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายดีในไลฟ์สดมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่
ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมจากการไลฟ์สดมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ ขนมและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและรองเท้า และผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ดังนั้นหากใครคิดที่จะเริ่มต้นไลฟ์สดขายของ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือการสร้างความแตกต่างของการนำเสนอสินค้า หรือการสร้างคอนเทนต์ที่โดดเด่น น่าสนใจ สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกซื้อของผู้บริโภคหลักในสินค้าแต่ละประเภทเพื่อที่จะสร้างคอนเทนต์ดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มนั้นได้
สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยไลฟ์สดจะต้องมีประหม่าแน่นอน การเตรียมสคริปต์เพื่อดูประกอบว่าต้องทำอะไรบ้างตลอดระยะเวลาที่เราไลฟ์สดตั้งแต่ต้นจนจบจะช่วยให้เราผิดพลาดน้อยลง อย่าลืมว่าครั้งแรกเราจะตื่นเต้นจนน่าจะทำอะไรไม่ถูก การมีสคริปต์มาแปะไว้จะสามารถช่วยชีวิตเราได้เมื่อเกินเหตุกะทันหัน โดยสคริปต์ที่ดีจะประกอบด้วยลำดับหัวข้อ สินค้าที่จะพูด มีลำดับการโชว์สินค้า ตัวไหนออกก่อน-หลัง เป็นต้น
ระบบหลังบ้านที่ดีจะช่วยให้การไลฟ์สดสมูท ไม่ติดขัดให้ทั้งคนดูและคนไลฟ์สดตกใจ การจัดการหลังบ้านก่อนไลฟ์สดก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาพหรือสัญญาณกระตุก เช่น เช็กคุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้มีระดับความเร็วขั้นต่ำตั้งแต่ 10 Mbps ขึ้นไป เตรียม Capture Card ไฟ ขาตั้งกล้อง ไมโครโฟน กล้องถ่ายวิดีโอคุณภาพดี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสเกลการไลฟ์สดของเราด้วยว่าอยากให้สเกลการไลฟ์สดอยู่ในระดับไหน นอกจากนี้ยังต้องเตรียมสถานที่ให้พร้อมไลฟ์สดอีกด้วยนะ
ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปัจจุบันต่างก็มีโหมดไลฟ์สดกันหมด สิ่งที่สำคัญที่สุดในการไลฟ์สดคือการมีผู้ชม เนื่องจากยอดขายจะมากหรือน้อยก็มีผลมาจากจำนวนคนที่เข้าดูการไลฟ์ด้วย ดังนั้นเลือกโซเชียลมีเดียที่เรามีผู้ติดตามเยอะ ๆ แล้วแจ้งให้ลูกค้ารู้ว่าเราจะมีไลฟ์สดล่วงหน้า 1 อาทิตย์ และแจ้งก่อนไลฟ์อีกรอบไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง เวลาที่ไลฟ์สดควรเป็นเวลาที่คนใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด คือ 19.00 - 21.30 และการไลฟ์แต่ละครั้งไม่ควรต่ำกว่า 10 นาทีค่ะ
นอกจากการเตรียมเสื้อผ้า หน้าผม มูดแอนด์โทนให้เข้ากับการไลฟ์สดแล้ว ยังต้องทำให้การไลฟ์เป็นเรื่องสนุก เฟรนด์ลี่ และเป็นธรรมชาติ พูดคุยทักทายเหมือนคนดูเป็นเพื่อน ๆ ของเราเอง และเรามีสินค้ามาแนะนำเขาด้วยความจริงใจ คอยมองแชทที่ขึ้นมาใหม่ โต้ตอบคนดูบ้าง จำไว้ว่าระหว่างที่ไลฟ์สดขายของเราไม่เพียงแค่ขายสินค้า แต่เรากำลังเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า ขายความเป็นตัวเอง เพื่อทำให้ลูกค้าจำร้านของเราได้อีกด้วย
แม้ไลฟ์สดจะจบไปแล้วแต่การขายก็ยังไม่จบ นั่นก็คือการสร้างความน่าเชื่อถือ โพสต์ขอบคุณคนดูและลูกค้าที่สนับสนุนเข้ามาดูเราไลฟ์สดทุกช่องทางบนโซเชียลมีเดีย อัปเดตภาพหรือวิดีโอสั้น ๆ ขั้นตอนการแพ็คของ จัดเตรียมสินค้าเพื่อไปส่งให้ลูกค้า เพื่อแสดงความจริงใจและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ และอย่าลืมย้อนกลับไปดูไลฟ์สดเพื่อนำมาปรับปรุงการไลฟ์สดครั้งต่อไปของตัวเองให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือ อย่าหยุดเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียเด็ดขาด
ที่มาข้อมูล