ภาษากาย (Body Language) คือ การใช้พฤติกรรมทางร่างกายเพื่อสื่อสารอารมณ์ความรู้สึก ถือเป็นอวัจนภาษา เช่น ท่าทางมือ การสบตา การแสดงออกทางสีหน้า ฯลฯ ภาษากายเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจการฟัง พูด อ่าน เขียนได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มาลองทำแบบทดสอบภาษากายเพื่อดูว่าคุณเข้าใจทักษะภาษากายดีแค่ไหน
ภาษากายมีความสำคัญต่อการพูดมาก ๆ เพราะผู้นำหลายประเทศ, CEO หลายคน และวิทยากรชื่อดังมากมาย ต่างก็มีภาษากายที่ดีเวลาต้องพูดในที่สาธารณะ เพราะภาษากายสามารถสร้างความมั่นใจและความน่าไว้วางใจให้ผู้ฟังหรือผู้รับชมได้
การใช้ภาษากายที่ดีในการนำเสนองานจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ดึงความสนใจของผู้ฟัง และช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับผู้ฟังได้ดี นอกจากนี้ภาษากายที่ดียังช่วยให้คุณดูมีความมั่นใจมากขึ้นด้วย ถ้าคุณอยากพัฒนาทักษะการนำเสนองาน การเข้าใจภาษากายที่ดีก็จะช่วยให้การนำเสนองานเป็นไปอย่างราบรื่นและดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น
เชื่อหรือไม่ว่ารอยยิ้มเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดสำหรับภาษากาย เพราะผลการศึกษาของ UC Berkeley พบว่า รอยยิ้มสามารถกระตุ้นความรู้สึกคนเราได้เท่ากับการรับเงินสดสูงถึง 16,000 ปอนด์ (ประมาณเจ็ดแสนบาท) เลยทีเดียว นอกจากนี้รอยยิ้มยังสามารถเปลี่ยนการรับรู้ที่เรามีเกี่ยวกับใครบางคนได้ในทันทีอีกด้วย เพราะฉะนั้นในการนำเสนอรอบหน้าให้คุณยิ้มทักทายผู้ฟังเป็นอันดับแรกเลยค่ะ
การผายฝ่ามือขึ้นมาคือการส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบว่าคุณไม่มีอาวุธในมือ และมันยังส่งผลต่อสมองเพราะผู้อื่นจะรู้สึกสบายใจกับเรามากขึ้น ในการนำเสนองานครั้งหน้า ก่อนจะพูดให้คุณลองยกฝ่ามือขึ้นมาในระหว่างพูดเปิด พร้อมกับเล่าเรื่องราวไปด้วย การทำแบบนี้จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นกันเอง และตัวคุณก็จะหายจากอาการประหม่าได้ด้วย
Tip: เวลาพูดอย่าเอามือล้วงกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงเชียว เพราะมันดูเหมือนไม่จริงใจ และยังสื่อว่าเรามีอะไรซ่อนอยู่ มีความลับ
การงอตัวจะทำให้คุณดูไม่มั่นใจในตัวเองเอาซะเลย หากเป็นไปได้ควรยืนตัวตรงตลอดการนำเสนอ เทคนิคคือเวลายืนให้ดึงไหล่ไปข้างหลังเล็กน้อย เพียงเท่านี้คุณก็จะยืนตัวตรงและดูมั่นใจในตัวเองขึ้นมาทันที
ท่าทางของร่างกายที่ดีในการนำเสนองาน
หากคุณรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเลย Amy Cuddy นักจิตวิทยาสังคม นักเขียน และนักพูด แนะนำว่า ให้ทำท่า Power Poses เพราะมันคือภาษากายที่จะช่วยให้คุณมั่นใจในตัวเองมากขึ้นได้ ให้ลองทำท่านี้ก่อนนำเสนองาน หรือจะใช้ระหว่างนำเสนอเพื่อเรียกความสนใจและเพิ่มพลังให้ตัวเองก็ได้ แต่ในระหว่างนำเสนองานไม่ควรทำบ่อยหรือทำค้างไว้นาน ๆ
คุณสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่นำเสนอได้ แทนที่จะยืนนิ่ง ๆ อย่างเดียว ก็ให้เดินไปรอบ ๆ บ้าง การทำแบบนี้จะช่วยส่งข้อความไปยังผู้ฟังได้ดีขึ้น นอกจากนี้มันยังช่วยไม่ให้รู้สึกกระสับกระส่ายได้ด้วย ลองก้าวออกมาจากจุดที่ยืนอยู่ แล้วให้ผู้ฟังเห็นคุณได้ชัดหรือใกล้ขึ้น และย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยเดินสัก 2 - 3 ก้าวแล้วหยุด แล้วเดินต่ออีก 2 - 3 ก้าวแล้วหยุดอย่างเป็นธรรมชาติ
การขยับเข้าไปใกล้ผู้ฟังจะช่วยสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกได้ดี หากคุณมีประเด็นสำคัญที่ต้องการจะเน้นย้ำมากกว่าหนึ่งเรื่องให้คุณลองก้าวไปข้างหน้าใกล้ผู้ฟังมากขึ้น การทำแบบนี้จะช่วยเรียกความสนใจให้ผู้ฟังโฟกัสและมีส่วนร่วมกับคุณมากขึ้นได้
หากคุณไม่อยากเดินเข้าไปใกล้ผู้ฟังมากเกินไป การเอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยขณะพูดก็ช่วยได้ เพราะมันเป็นภาษากายที่สื่อว่าน่าสนใจจัง ซึ่งมันจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ฟังได้
หากคุณลองสังเกต ผู้นำเสนอที่ยอดเยี่ยมมักจะใช้ท่าทางมือเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอ เพราะมันเปรียบเหมือนกับการส่งมอบข้อมูล ท่าทางของมือจะช่วยให้คุณเน้นย้ำสิ่งที่สำคัญ พร้อมกับแสดงความรู้สึกและความเชื่อมั่นในสิ่งที่พูด ซึ่งมันจะช่วยให้หัวข้อที่พูดชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมันยังทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคุณมีชีวิตชีวาหรือดูเป็นธรรมชาติมาก ๆ
Vanessa Van Edwards ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย ได้ทำการศึกษาเรื่องการแสดงท่าทางด้วยมือ โดยพบว่าการใช้ท่าทางของมือจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้อความของคุณได้มากถึง 60% หรือสรุปได้ว่ายิ่งคุณใช้มือมากเท่าไหร่ โอกาสในการนำเสนอของคุณก็จะประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ในขณะที่นำเสนองานอย่าลืมสบตากับผู้ฟังด้วย การทำแบบนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนคุณกำลังพูดกับพวกเขาโดยตรง และมันจะช่วยให้ผู้ฟังสนใจการนำเสนอของคุณมากขึ้น เลี่ยงการหันหลังหรือก้มหน้าพูดตลอดการนำเสนอ เพราะมันเป็นภาษากายในการนำเสนอที่ดูไม่เป็นมืออาชีพเอาซะเลย
การสบตายังช่วยให้คุณสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ฟังได้ด้วย เทคนิคคือไม่จำเป็นต้องสบตาแต่ละคนเพราะอาจเป็นเรื่องยากเวลานำเสนอต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก แต่ให้เน้นการสบตากับคนสองสามคนในส่วนต่าง ๆ ของห้องแทน ก็จะช่วยให้คุณสร้างและรักษาการติดต่อนั้นไว้ได้ หากมีผู้ฟังมองมาที่คุณ คุณก็ควรสบตากลับไป แต่เลี่ยงการสบตาที่นานมาก ๆ เพราะอาจทำให้ผู้ฟังบางคนรู้สึกไม่สบายใจได้
ในขณะที่กำลังนำเสนองานอยู่ หลายคนอาจจดจ่ออยู่กับการพูดจนพูดเร็วเกินไปหรือลืมหายใจก็ได้ ถ้าคุณไม่อยากพูดเร็วจนทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่มีจังหวะให้พวกเขาได้พักหรือหายใจเลย คุณต้องหยุดชั่วคราวเล็กน้อยเพื่อหายใจ เหมือนอย่างที่ Tim Cook ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอปเปิล ทำในการกล่าวคำปราศรัยรับปริญญาของ Duke University การหยุดชั่วคราวอย่างรู้จังหวะจะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นคงมากขึ้นได้ และมันยังช่วยปรับโทนเสียงและระดับเสียงของคุณให้น่าฟังมากขึ้นด้วย
เคล็ดลับสุดท้ายคือการเรียนรู้จากผู้นำเสนอที่ยอดเยี่ยมคนอื่น ๆ คุณสามารถศึกษาภาษากายของพวกเขาและดูว่าพวกเขาใช้การแสดงออกทางสีหน้า การเคลื่อนไหว และท่าทางเพื่อช่วยให้พวกเขาถ่ายทอดความคิดได้อย่างไร จุดเริ่มต้นที่ดีคือการดู TED Talks ต่าง ๆ หรืออ่านบทความเทคนิควางแผนและทำสไลด์นำเสนองานจาก TED Talks
เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อให้การนำเสนอของคุณเพอร์เฟคมากขึ้น คุณสามารถอัปทักษะการทำสไลด์นำเสนอ PowerPoint ให้ดีขึ้นได้ด้วยคอร์ส Shortcut PowerPoint Design คอร์สเรียนที่จะสอนเทคนิคของมืออาชีพในการออกแบบสไลด์พรีเซนเทชั่นให้ดูสวย น่าสนใจ อ่านข้อมูลง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกงาน
ที่มาข้อมูล