มาทำความเข้าใจหน้าที่ของระบบกล้ามเนื้อ เบื้องต้น ที่มีความสำคัญเวลาออกกำลังกาย
1061 views | 11/08/2022
Copy link to clipboard
Content Creator

การออกกำลังกายใคร ๆ ก็สามารถออกกันได้เลย เพียงแค่มีเวลา และใจรักสุขภาพ แต่ผู้ออกกำลังกายส่วนใหญ่มักจะละเลยการใช้ท่าทางในการออกกำลังกาย บางคนออกผิดท่า หรือออกไม่ถูกวิธีบ้าง ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหลังออกกำลังกายทุกครั้ง และมักเกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อตามบริเวณต่าง ๆ ผู้ออกกำลังกายจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจหน้าที่ของระบบกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ให้ชัดเจน ว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้างเวลาออกกำลังกาย เพื่อที่เราจะได้ใช้กล้ามเนื้อให้ถูกส่วน และลดภาวะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในอนาคต



ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นสิ่งสำคัญในร่างกายของมนุษย์ การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยให้กระดูกและข้อต่อต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้ดี ไม่เสี่ยงต่อการล้ม บาดเจ็บ หรือปวดเมื่อย ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นตัวบ่งบอกถึงความสมดุลของร่างกายที่ดี 


นักกีฬาหรือผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย จำเป็นจะต้องเข้าใจร่างกายของคุณให้ดีพอ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คุณไม่พลาดในการขยับท่าทางตอนที่กำลังออกกำลังกาย ยิ่งมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความสามารถของการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแรงต่อเวลา และทักษะที่ต้องเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว ทำให้ออกกำลังกาย และเล่นกีฬาได้ดียิ่งขึ้น 



มาทำความเข้าใจกับระบบของกล้ามเนื้อเบื้องต้น เพื่อจะได้รู้จักร่างกายของตัวเอง และนำไปปรับใช้ในการออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม


ชนิดของกล้ามเนื้อ มีกี่แบบ ? 


กล้ามเนื้อ ทำหน้าที่ในการหดและยืดตัว เพื่อเกิดการเคลื่อนไหว โดยแบ่งกล้ามเนื้อออกเป็น 3 ประเภท


1. กล้ามเนื้อหัวใจ 


กล้ามเนื้อที่ประกอบขึ้นเป็นหัวใจ มีชื่อเรียกว่ากล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อชนิดนี้เป็นกล้ามเนื้อนอกอำนาจจิตใจเหมือนกับกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้เกิดการเต้นของหัวใจ (Heart Beat) อยู่ตลอดเวลา กล้ามเนื้อหัวใจจะบีบตัว (Contract) เพื่อดันเลือดส่งออกไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย และคลายตัว (Relax) เพื่อให้เลือดไหลกลับเข้ามาสู่หัวใจหลังจากที่ไหลวนไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย


กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเมื่อหดตัวจะเกิดการบีบตัวของหัวใจ ห้องบนและห้องล่างซ้ายขวา ทำให้น้ำเลือดถูกส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้


2. กล้ามเนื้อเรียบ 


กล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหลอดเลือดและกระเพาะลำไส้ กล้ามเนื้อเรียบนี้เมื่อเกิดการหดตัวก็จะบีบเอาสิ่งที่อยู่ในหลอดอาหารคละเคล้ากับน้ำย่อย ทำให้เกิดการย่อยอาหาร และขับถ่ายเอากากอาหารออกที่หลังเมื่ออาหารถูกดูดซึมเข้าไปในหลอดเลือดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบตามหลอดเลือดทำให้เลือดถูกลำเลียงไปส่วนนั้นน้อยลง เพื่อแบ่งเลือดไปเลี้ยงที่อื่นมากขึ้น


3. กล้ามเนื้อลาย


เป็นกล้ามเนื้อภายใต้อำนาจจิตใจชนิดเดียวในร่างกาย กล้ามเนื้อลายเป็นกล้ามเนื้อที่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อชนิดนี้ได้ กล้ามเนื้อลายจะห่อหุ้มโครงกระดูกของเราไว้ และทั้งสองอย่างจะทำงานร่วมกัน ทำให้ร่างกายสามารถทำงาน กล้ามเนื้อลายมีรูปร่างและขนาดที่หลากหลาย จึงทำงานได้หลากหลายรูปแบบ 


ทั้งนี้กล้ามเนื้อลายนี่แหละ คือตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในการออกกำลังกาย



ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อ


เมื่อสมองถูกสั่งให้ร่างกายเราเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อก็จะเกิดการหดตัวและคลายตัวทันที โดยจะทำงานประสานเป็นคู่ ๆ พร้อมกัน แต่ตรงข้ามกันในขณะที่กล้ามเนื้อมัดหนึ่งหดตัว กล้ามเนื้ออีกมัดหนึ่งจะคลายตัว การทำงานของกล้ามเนื้อในลักษณะนี้ เรียกว่า Antagonistic muscle มัดกล้ามเนื้อไบเซพ (Biceps) จะอยู่ด้านบน และไตรเซพ (Triceps) จะอยู่ด้านล่างของแขนนั่นเอง


หน้าที่ของระบบกล้ามเนื้อ


1. คงรูปร่างท่าทางของร่างกาย

2. ยึดข้อต่อไว้ด้วยกัน 

3. ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว โดยการเปลี่ยนพลังงานที่ได้จากสารอาหารมาเป็นพลังงานกล หรือพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

4. รักษาระดับอุณหภูมิของร่างกายโดยผลิตความร้อนออกมาตามที่ร่างกายต้องการ



กล้ามเนื้อ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกายคนเรา ไม่ว่าจะเป็นร่างกายภายนอกหรือภายในก็ตาม ซึ่งกล้ามเนื้อจะมีหน้าที่ยืดและหดตัวเพื่อเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ให้กับร่างกายของเรา ผู้ออกกำลังกายจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรู้จักการทำงานของระบบกล้ามเนื้อเบื้องต้น เพื่อจะได้รู้จักลิมิตการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในการออกกำลังกายให้ดียิ่งขึ้น 


ใครที่อยากเข้าใจการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อเพิ่มมากขึ้น สามารถเรียนรู้ได้ผ่านคอร์ส “PRACTICAL ANATOMY MOVEMENT TUTOR” คอร์สนี้จะทำให้คุณเข้าใจกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และรู้จักการขยับของร่างกายว่าทำได้กี่ทิศทาง ซึ่งจะทำให้คุณสามารถออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 


>>คลิกเรียน<<



ที่มาข้อมูล

  • กล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว