5 เทคนิคเล่าเรื่องแบบ TED Talks พูดอย่างไรให้โดนใจคนฟัง
2339 views | 31/08/2022
Copy link to clipboard
Koii Nopnok
Content Creator

อยากเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ อยากพูดให้โดนใจคนฟัง มาดูเทคนิคดี ๆ จากเวที TED Talks ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการพูดนำเสนอ การเขียนบทความ การทำสไลด์เพื่อพรีเซนต์งาน หรือการเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง เทคนิค 5 ข้อนี้แนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญในการพูดและวิทยากรชื่อดัง 



1. ใช้ภาพช่วยให้ผู้ฟังดื่มด่ำกับเรื่องราว

เรื่องราวที่ได้รับการบอกเล่าอย่างดีคือสิ่งที่จะติดตรึงอยู่ในใจผู้ฟังไปอีกหลายปี ยกตัวอย่าง TED Talks ที่เรียบง่ายแต่ตราตรึงใจผู้ฟังคลิปนี้ Richard Turere เด็กชายชาวมาไซวัย 12 ปีจากประเทศเคนยา เขามาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ในบ้านเกิดด้วยคำที่เรียบง่ายและสไลด์ที่มีภาพที่คมชัด เขาบอกเล่าการคิดค้นระบบไฟที่สามารถปกป้องฝูงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ให้ปลอดภัยจากการถูกสิงโตโจมตีได้



เหตุผลที่การนำเสนอของ Richard Turere ประสบความสำเร็จเพราะทุกคำที่เขาพูดและภาพที่นำเสนอ ช่วยสร้างภาพที่ชัดเจนของปัญหาที่เขาและครอบครัวต้องเผชิญ และการพูดของเขายังเป็นไปตามกฎทองของการนำเสนออีกด้วย เพราะเขาใช้ภาพที่ชัดเจนในการเสริมเรื่องราวแทนที่จะพูดซ้ำ ๆ วนไปวนมา ภาพที่ชัดเจนช่วยทำให้ผู้ฟังอินกับเรื่องราวได้มากขึ้น และเขายังให้รายละเอียดทางประสาทสัมผัสที่จะช่วยให้ผู้ฟังได้เห็น ได้ยิน รู้สึก และได้กลิ่นผ่านการเล่าเรื่องราวอีกด้วย



2. สร้างความสงสัยให้กับผู้ฟัง

คนที่ชอบดูหนังหรืออ่านหนังสือจะรู้ดีว่าเรื่องราวที่ดีมักจะมีความขัดแย้ง และโครงสร้างของเรื่องกับองค์ประกอบของเรื่องราวคือสิ่งที่จะทำให้การนำเสนอน่าติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ฟังจะอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ซึ่งการบอกเล่าเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์และสรุปทีเดียวก็สามารถทำให้ผู้ฟังรู้สึกแบบนั้นได้



อย่างเรื่องราวของ Aimee Mullins นักกีฬาและนักแสดงที่เกิดมาพร้อมกับอาการป่วยที่ทำให้เธอต้องตัดขาส่วนล่างทั้งสองข้าง ซึ่งเธอได้เป็นนักกีฬาคนพิการคนแรกที่แข่งขันกับนักกีฬาทั่วไปในกิจกรรม National Collegiate Athletic Association และเข้าแข่งขันในพาราลิมปิกในปี 1996 ที่แอตแลนต้า ต่อมาในปี 1999 เธอเริ่มเป็นนางแบบ และในปี 2002 เธอเริ่มอาชีพนักแสดง บนเวที TED Talks เธอได้เล่าเรื่องแบบย้อนเวลากลับไปเพื่อเปิดเผยว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างไร 



อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีคือเรื่องราวของ Zak Ebrahim ที่มาบอกเล่าเรื่องคุณพ่อของเขาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยเขาได้เล่าย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็กและวิธีที่เขาเติบโตขึ้นมาเพื่อเลือกเส้นทางเดินที่แตกต่างจากพ่อของเขา การเล่าเรื่องแบบนี้คือการใช้โครงสร้างเรื่องแบบคลาสสิก คือ มีความขัดแย้งเกิดขึ้น และมีการเปลี่ยงแปลง (เหตุการณ์เป็นไปในเชิงบวก) และมีสิ่งที่ผู้ฟังได้เรียนรู้ โครงสร้างเรื่องแบบนี้แม้จะคลาสสิกแต่ก็ได้ใจผู้ฟังตลอดกาล



3. ทำให้ตัวละครมีชีวิต

ตัวละครถือเป็นหัวใจของการเล่าเรื่องราว ไม่ว่าจะเรื่องที่น่ายินดี เรื่องเศร้า หรือเรื่องตลก ต่างก็จะมีตัวละครอยู่ในเรื่องราวนั้น ๆ ซึ่งเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จมากมักจะมีคาแรคเตอร์ตัวละครที่ชัดเจน หรือมีลักษณะที่ไม่ธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เรื่องราวของคุณน่าสนใจมากขึ้น ครทำให้ตัวละครนั้นมีชีวิตขึ้นมาในใจของผู้ฟัง



การจะทำเช่นนั้นได้ คุณต้องให้รายละเอียดที่มากพอเพื่อทำให้ตัวละครนั้นมีชีวิตขึ้นมาในใจของผู้ฟัง ขอยกตัวอย่างเวที TED Talks ที่  Malcolm Gladwell นักเล่าเรื่องระดับปรมาจารย์ได้สร้างภาพที่สดใสของ Howard ในการนำเสนอครั้งนี้ โดยเขาได้บรรยายลักษณะทางกายภาพ นิสัยใจคอ บุคลิกภาพ และเล่าถึงงานอดิเรกและความหลงใหลของ Howard ซึ่งเขาได้อธิบายอย่างละเอียด มีดีเทลเกี่ยวกับ Howard มากพอจนทำให้ตัวละครนี้มีชีวิตขึ้นมาในใจของผู้ฟังได้



4. แสดงท่าทางออกมาแทนการเล่าเรื่อง

แทนที่จะบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ผู้ฟังตรง ๆ ไปเลย คุณสามารถใช้การแสดงแทนการบอกเล่าได้ด้วย อย่างคลิปตัวอย่างนี้ที่ Dananjaya Hettiarachchi นำเสนอเรื่องราวโดยสร้างเหตุการณ์จำลองขึ้นมาทีละฉาก และใช้บทสนทนาแทนการบรรยาย ซึ่งคลิปนี้เขาบอกเล่าเรื่องราวออกมาได้ดีมากจนได้รับรางวัล World Championship of Public Speaking ในปี 2014



เทคนิคการแสดงแทนการบอกเล่าจะช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์ของผู้พูดได้อย่างเต็มที่ และรายละเอียดต่าง ๆ จะเข้าไปอยู่ในความทรงจำของผู้ชมอย่างชัดเจน ก็ถือเป็นอีกเทคนิคที่ดีในการเล่าเรื่องให้โดนใจผู้ชม



5. ปิดท้ายด้วยสิ่งดี ๆ

 Akash Karia ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเสนอได้ทำการวิเคราะห์การพูดบนเวที TED Talks โดยได้คัดเรื่องที่ดีที่สุด 200 เรื่อง และพบว่าการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพสูงจะต้องมีความขัดแย้งในเรื่องเล่าและต้องมีจุดไคลแมกซ์ รวมถึงจะต้องมีการแก้ปัญหาในเชิงบวกด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นช่วงท้ายของการเล่าเรื่องที่จะปิดท้ายด้วยการเอาชนะอุปสรรคได้หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สตอรี่แบบนี้มักจะโดนใจผู้ฟังมากที่สุด




ที่มาข้อมูล

  • https://visme.co/blog/7-storytelling-techniques-used-by-the-most-inspiring-ted-presenters/
  • https://www.forbes.com/sites/kevinkruse/2016/03/29/how-to-tell-stories-like-ted-speakers/?sh=53151c151377
  • https://www.ted.com/topics/storytelling