หนึ่งในการพรีเซนต์ที่ผู้เขียนชอบมาก ๆ และคิดว่ามันเป็นหนึ่งในการพูดพรีเซนต์ที่ตรงกับเนื้อหาในหนังสือ 1 นาทีพรีเซนต์ให้โลกจำของคุณอิโต โยอิจิ ก็คือพรีเซนต์ที่สุดจะอิมแพ็คของคุณบงจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้จากหนังเรื่อง Parasite ที่คุณบงจุนโฮได้พูดไว้เมื่อครั้งขึ้นรับรางวัลในงาน Golden Globe ปี 2020 ว่า
"เมื่อคุณมองข้ามกำแพงสูง 1 นิ้วที่ชื่อว่า 'ซับไตเติ้ล' คุณจะได้ค้นพบกับหนังดี ๆ อีกมากมาย แค่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเคียงข้างบรรดานักทำหนังระดับโลก ก็เป็นเกียรติอย่างมากแล้วครับ” และ “ผมคิดว่าพวกเราทั้งหมดใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสาร มันคือภาษาที่ชื่อว่าภาพยนตร์”
ตอนคุณบงจุนโฮพูดแล้วล่ามแปลจนจบ คนแทบจะขนลุกขนชันไปทั้งฮอลล์ เพราะแกพูดไม่ถึง 1 นาทีด้วยซ้ำ ไม่มีคำพูดลักษณะเชิญชวนให้ไปดูหนังเกาหลีเลยสักคำ ไม่มีการขายของ แถมยังเป็นประโยคสั้น ๆ ที่กระตุ้นอุตสาหกรรมหนัง ให้คนเปิดใจกับการดูหนังต่างประเทศ อ่านซับไตเติ้ล (เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาที่มีหนังเอเชียดัง ๆ ต่างชาติจะชอบซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเอง ไม่ต้องมาอ่านซับไตเติ้ล แต่ว่าก็ไม่ได้สนุกเท่าออริจินอลค่ะ) ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นพรีเซนต์ 1 นาทีที่ทำให้เราเห็นภาพตัวเองนั่งดูหนังอ่านซัลไตเติ้ลได้อีกด้วย !
ซึ่งก็ไปตรงกับใจความของผู้เขียนหนังสือ 1 นาที พรีเซนต์ให้โลกจำ ของคุณอิโต โยอิจิ ที่บอกว่าจุดเริ่มต้นของการพรีเซนต์ที่ดีที่สุด เทคนิคที่จะทำให้เราพัฒนาสกิลการพรีเซนต์ให้โลกจำคือ การหัดสรุปสิ่งที่จะพูดทั้งหมดให้ได้ภายใน 1 นาที โดยกระตุ้นสมองทั้ง 2 ซีก ซึ่งก็คือ สมองส่วนตรรกะ เหตุผล (สมองซีกซ้าย) และกระตุ้นสมองส่วนจินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึกและความสร้างสรรค์ (สมองซีกขวา) และถึงแม้เราจะไม่ใช่ผู้กำกับหนัง การพูดพรีเซนต์ให้จบภายใน 1 นาทีก็ยังจำเป็นอยู่ดีกับการทำงาน การเรียน การทำธุรกิจ ฯลฯ ไปดูกันว่าเราจะพัฒนาการพรีเซนต์ของเราอย่างไรให้ได้ใจคนฟังและบรรลุตามเป้าหมาย
เวลาที่จะพรีเซนต์งานอะไรสักอย่าง เราจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้งไม่ได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะการพรีเซนต์งานเชิงธุรกิจ เราต้องทำให้คนที่ฟังเรา เขาชอบ แล้วการที่จะทำให้เขาชอบได้ เราต้องรู้ว่าผู้ฟังของเราเป็นใคร สนใจเรื่องอะไรอยู่ ? โดยต้องมีข้อมูลดังนี้
• ผู้ฟังอยู่ในฐานะอะไร เช่น เจ้านาย ลูกน้อง ลูกทีม พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ฯลฯ
• สนใจเรื่องอะไร
• ต้องการอะไรจากการนำเสนอผลงานนี้
• มีความเข้าใจประเด็นมากน้อยเเค่ไหน
• ถ้าพูดอะไรหรือพูดในลักษณะไหนแล้วจะมีปฏิกิริยาเชิงลบ
ก่อนที่จะเตรียมเนื้อหา ทำสไลด์ คิดเทคนิคการพูดให้เราลองจินตนาการปฏิกิริยาของผู้ฟังเหล่านั้นในขณะเตรียมตัว ซึ่งก็คือการ “นึกภาพผู้ฟัง” ที่เป็นพื้นฐานในการสร้างเรื่องราว ตั้งแต่เนื้อหาที่จะพูด ตลอดจนการใช้ถ้อยคำ หรือวิธีการพูดก่อนที่จะทำการเตรียมเนื้อหา
โดยปกติแล้วเรามักจะเตรียมตัวนำเสนอผลงานโดยไม่ค่อยใส่ใจเป้าหมายอย่างจริงจัง เมื่อถูกความกดดันที่ต้องพูดพรีเซนต์ ต้องทำสไลด์ เตรียมตัวไปพลางหาหัวข้อเรื่องโน่นนี่นั่น ฯลฯ ทำให้มีหลายอย่างมา Distrub รบกวนเราไปจากเป้าหมายของการพรีเซนต์ ซึ่งวิธีการเตรียมตัวแบบนี้นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังเหมือนลงแรงไปกับสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการจริง ๆ อีกด้วย
ซึ่งคำว่า ‘อยากให้เข้าใจ’ ‘อยากพูดให้ดี’ ไม่นับว่าเป็นเป้าหมาย เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการพรีเซนต์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การพรีเซนต์บนเวที TED Talks ส่วนใหญ่ที่ฟังเเล้วจับจิตจับใจจนต้องร้องว้าว หลาย ๆ Talk นั้นไม่ได้พรีเซนต์เพื่อให้คนฟังเข้าใจ หรือมาประทับใจใน Talk เท่านั้น แต่หลาย Talk เกิดขึ้นจากเป้าหมายให้ได้รับการระดมทุนบ้าง การลงชื่อสนับสนุนและการบริจาค ฯลฯ ดังนั้น เราต้องคำนึงว่า เมื่อเข้าใจแล้วอยากให้คนฟังทำอะไร เราจะลงมือเองหรือจะให้เขาเป็นฝ่ายลงมือ และควรทำด้วยวิธีไหน อย่างไร นั่นแหละถึงจะถูกต้อง
การนำเสนอผลงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นผู้ฟังต้องเชื่อเราก่อน และการจะทำให้ผู้ฟังเชื่อต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าการ ‘โน้มน้าวใจ’ แต่หลายครั้งเวลาที่เราพูดโน้มน้าวใจ เรายังขาดบางอย่างไป นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อสรุป’ จึงทำให้หลายครั้งพูดโน้มน้าวใจได้ไม่สำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น
A: เท่าที่วิเคราะห์ดูแล้ว A เป็นแบบนี้ ส่วน B เป็นแบบนี้ ยอดขายของทั้งคู่มีความสูสีกัน แต่ก็เป็นสินค้าที่ขายดี ติดตลาด ลูกค้าชอบทั้งคู่ค่ะ
B: เท่าที่วิเคราะห์ดูแล้ว A เป็นแบบนี้ ส่วน B เป็นแบบนี้ ยอดขายของ A ได้รับความนิยมกว่า เราควรมุ่งความสนใจไปที่ A และควรผลิตเพิ่มค่ะ
เราจะเห็นได้เลยว่า พรีเซนต์แบบ A จะโชว์ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่น่าสนใจเท่านั้น คนฟังฟังแล้วอาจเข้าใจแต่จะรู้สึกว่า ‘แล้วยังไงต่อ’ ต่างกับพรีเซนต์แบบ B ที่มีข้อมูลเหมือนกัน แต่ตามมาด้วยแนวทางและข้อสรุปที่ชัดเจนที่จะโน้มน้าวใจคนฟังให้ Take Action ไปในทางนั้น มันคือการพรีเซนต์ที่ชี้นำไปสู่ข้อสรุปเพื่อโน้มน้าวใจผู้ฟังให้ทำตามนั่นเอง
คุณอิโต โยอิจิ แกย้ำเสมอว่า ใคร ๆ ก็ไม่อยากฟังเรื่องของคนอื่น เพื่อนร่วมงานที่ประชุมอยู่ในที่เดียวกับเรา เขาก็ไม่ได้อยากฟังหรอก เขาแค่เข้ามาพูดในส่วนของเขาเท่านั้น อาจฟังดูโหดร้ายแต่ให้คิดเสียว่าเป็นเรื่องธรรมดา ต่อให้เรานำเสนอผลงานเก่งแค่ไหน ก็เป็นเรื่องหินมาก ๆ ที่ผู้ฟังจะเข้าใจเรื่องที่เราพูดไป 100% ไม่ใช่ว่าผู้ฟังขาดทักษะการทำความเข้าใจ หรือวิธีพูดของเรามันแย่ แต่ธรรมชาติของการสื่อสารเป็นแบบนี้ คนเราจะสนใจในเรื่องที่เขาสนใจเท่านั้น
จุดตัดสินแพ้ชนะจะอยู่ที่ 1 นาทีแรก ต้องทำให้คนฟังให้ได้ และการพูดสรุป 1 นาทีก็มีแพทเทิร์นอยู่ว่า ให้เราเตรียมคำพูดที่จะสามารถกระตุ้นสมองทั้ง 2 ซีกของคนฟังให้ทำงานพร้อม ๆ กันได้ นั่นก็คือการสื่อสารอย่างมีเหตุผล (สมองซีกซ้าย) + ความกระตือรือร้น สร้างสรรค์ (สมองซีกขวา) หากการพูดใน 1 นาทีของเราสามารถกระตุ้นสมองทั้ง 2 ซีกของผู้ฟังได้ เปอร์เซ็นต์ที่เขาจะฟังเรา ดีลงานกับเราก็ยิ่งสูงตาม ยกตัวอย่างการพูดสรุป 1 นาทีของนักจิตวิทยาหญิง Kelly Mcgonigal ในสปีชพรีเซนต์เรื่อง ข้อดีของความเครียด เธอเริ่มพูดว่า
“ฉันมีเรื่องจะสารภาพ แต่ก่อนอื่นฉันอยากให้คุณสารภาพกับฉันก่อน ในรอบปีที่ผ่านมา ฉันอยากให้คุณยกมือขึ้นถ้าคุณมีความเครียดค่อนข้างน้อย มีใครเครียดน้อยมาก ๆ บ้างไหมคะ แล้วใครเคยเครียดมาก ๆ บ้าง แต่นั่นไม่ใช่คำสารภาพของฉันนะคะ คำสารภาพของฉันคือ นี่ค่ะ ฉันเป็นนักจิตวิทยาเพื่อสุขภาพ และภารกิจของฉันก็คือการช่วยให้คนมีความสุขมากขึ้น และสุขภาพดีขึ้น แต่ฉันกลัวว่า อะไรบางอย่างที่ฉันสอนมาตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น จะเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ และนั่นหมายถึงเรื่องความเครียดค่ะ”
แทนที่จะพูดว่า “วันนี้ฉันจะมาพูดเรื่อง ความเครียดนะคะ ว่าจริง ๆ แล้วความเครียดเป็นข้อดีและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง” แต่คุณ Kelly Mcgonigal กลับเริ่มด้วยการถามกระตุ้นให้คนฟังคิดถึงอารมณ์ความเครียดที่ตัวเองเคยเจอมาทั้งปี เพื่อสุดท้ายแล้วเธอจะได้พูดถึงด้านบวกของความเครียด และโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังรักษาความเครียดหรืออาการเครียดด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้คนเราเข้าใจความเครียดได้อย่างแนบเนียนมาก โดยเราจะเห็นแพทเทิร์นบางอย่างจากการพูดสรุป 1 นาทีที่กระตุ้นสมองทั้ง 2 ซีกได้ดังนี้
หากใครสนใจวิธีพรีเซนต์งาน รวมไปถึงการทำสไลด์ ออกแบบ PowerPoint อย่างมืออาชีพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำเสนอให้ดียิ่งขึ้นจากประสบการณ์ตรงโดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริง เรียนแล้วนำไปใช้งานได้เลยทันทีไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ปริญญาตรี/โท/เอก นักวิจัย พนักงานบริษัท หรือข้าราชการ ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้ เริ่มต้นจากศูนย์ แต่เรียนจบแล้วรับรองว่าจะต้องเทิร์นโปรแบบสับ คลิกที่นี่
ที่มาข้อมูล