เวลาที่ต้องออกไปพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ บางครั้งเราก็อาจเผลอพูดเสียงเบาหรือพูดพึมพำในลำคอได้ คำแนะนำคือคุณควรปรับระดับความดังเวลาพูดให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ เช่น หากคุณต้องพูดนำเสนองานหน้าห้องก็ควรพูดให้ดังและฟังชัดเจน เพื่อให้ทุกคนได้ยินเสียงของคุณ แต่ถ้าเป็นการพูดคุยกับเพื่อน คุณก็ไม่ต้องพูดเสียงดังเหมือนเวลาพรีเซนต์งานหน้าห้องก็ได้
ระดับเสียงพูดมักมีผลต่อคุณภาพการพูด ถ้าคุณพูดด้วยเสียงที่สั่นเครือและไม่คงที่ ผู้ฟังก็อาจจะคิดว่าคุณประหม่าได้ ในขณะที่การพูดด้วยน้ำเสียงที่นิ่งและสม่ำเสมอจะทำให้น่าฟังและโน้มน้าวใจได้ดีกว่า เคล็ดลับคือก่อนจะเริ่มพูดให้คุณลองฮัมทำนองเพลงออกมา หรืออ่านข้อความอะไรก็ได้ออกมาดัง ๆ เพื่อเป็นการวอร์มเสียงก่อนพูด ซึ่งจะช่วยให้เวลาพรีเซนต์จริงเสียงจะออกมาเต็ม ชัดเจน และลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ
การพูดออกมาให้ชัดเจนจะช่วยให้คุณพัฒนาการออกเสียงได้ดีมากขึ้น เทคนิคคือเปิดปากให้เป็นไปตามธรรมชาติ เวลาพูด ต้องผ่อนคลายริมฝีปาก และให้ลิ้นกับฟันอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องด้วย วิธีนี้จะช่วยแก้ไขการออกเสียงไม่ชัดได้ ในช่วงแรก ๆ คุณอาจจะรู้สึกแปลก ๆ หรือไม่ชินบ้าง แต่ถ้าพยายามฝึกฝนการออกเสียงอย่างต่อเนื่อง ลิ้นและปากของคุณก็จะคุ้นชินไปเอง
การพูดเร็วเกินไปอาจทำให้คุณพูดออกมาไม่ชัด หรือผู้ฟังไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพูด การพูดให้ช้าลง ค่อย ๆ พูดแต่ละคำออกมาให้ชัดเจน และเว้นช่องว่างระหว่างประโยคให้ดี จะช่วยให้การพูดของคุณดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น และมันยังช่วยให้คุณได้มีจังหวะหายใจอีกด้วย แต่ก็อย่าพูดช้ามากเกินไปเพราะคนฟังอาจจะเบื่อได้ ความเร็วของการพูดที่ดีจะอยู่ที่ระหว่าง 120 - 160 คำต่อนาที
การฝึกบริหารเสียงจะช่วยพัฒนาเสียงธรรมชาติของคุณได้ โดยให้ฝึกที่หน้ากระจก เริ่มจากอ้าปากค้างกว้าง ๆ และขยับกรามจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งสลับกันไปมา ระหว่างที่ทำให้ฮัมทำนองเพลงออกมาด้วย นอกจากนี้การฝึกอ่านคำที่มีสัมผัสอักษรอย่างคำว่า ระนอง ระยอง ยะลา หรือกินมันติดเหงือก กินเผือกติดฟัน กินทั้งมันกินทั้งเผือก ติดทั้งเหงือกติดทั้งฟัน ก็สามารถช่วยฝึกการออกเสียงได้ดี ทริคคือในระหว่างที่ฝึกออกเสียงให้เริ่มจากการออกเสียงในระดับเสียงปกติก่อน จากนั้นค่อย ๆ ลดระดับเสียงให้ต่ำลงเรื่อย ๆ การทำแบบนี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้คุณออกเสียงได้ชัดเจนและปรับระดับเสียงได้ดีมาก
การฝึกอ่านออกเสียงดัง ๆ ก็เป็นอีกวิธีฝึกที่เวิร์คมากเหมือนกัน เพราะจะช่วยให้คุณได้ฝึกออกเสียง เว้นจังหวะ และควบคุมความดังของเสียงพูดของตัวเองให้ดีได้ โดยเริ่มต้นจากการเลือกข้อความ บทความ ข่าว หรือบทพูดที่ชอบ แล้วฝึกอ่านออกเสียงดัง ๆ ออกมา เวลาฝึกควรยืดหลังให้ตรงและเปิดปากให้สุด และฝึกอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
ถือเป็นวิธีที่เบสิกมาก ๆ หลายคนพอได้ยินเสียงตัวเองแล้วอาจจะตกใจว่าเราเสียงเป็นแบบนี้เหรอ หรือบางคนก็อาจไม่ชอบฟังเสียงตัวเองเท่าไหร่ แต่การอัดเสียงพูดของตัวเองแล้วฟังก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้คุณพัฒนาการออกเสียงได้ดีมาก เพราะมันจะทำให้คุณรับรู้ถึงข้อผิดพลาดต่าง ๆ เช่น การออกเสียงผิด การพูดเร็วเกินไป หรือพูดแล้วเสียงสั่นมาก เป็นต้น เมื่อได้ฟังเสียงที่อัดแล้ว คุณก็จะได้แก้ไขข้อผิดพลาดได้ตรงจุดและพัฒนาการออกเสียงให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ในขณะที่นำเสนองานคุณสามารถยิ้มเล็กน้อยก่อนจะพูดหรือบางจังหวะในการพูดได้ เพราะมันจะช่วยทำให้คุณได้ใช้โทนเสียงที่เปิดกว้าง อบอุ่น และยังทำให้บรรยากาศดูเป็นมิตรมากขึ้น ทั้งนี้เราไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณยิ้มตลอดเวลาที่พูด คุณต้องดูจังหวะให้ดีและทำอย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงต้องดูหัวข้อหรือประเด็นที่นำเสนอด้วย หากเป็นเรื่องที่ซีเรียสหรืออ่อนไหวก็ไม่ควรยิ้ม คุณควรนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้การนำเสนอดูเป็นมืออาชีพมากที่สุด
ที่มาข้อมูล