5 วิธีเอาชนะทุกความกลัว เมื่อต้องนำเสนองาน
927 views | 01/11/2022
Copy link to clipboard
Apple W.
Content Creator

นำเสนองานทีไร เหมือนนาทีมรณะบังเกิด ความเชื่อที่ว่าตัวเองไม่มีทางนำเสนองานได้แม้จะซ้อมมาแล้วทั้งอาทิตย์ ท่าทางตลอดการนำเสนอที่ไม่เป็นธรรมชาติ ตามมาด้วยเสียงสั่น ๆ พูดผิด ๆ ถูก ๆ ไม่แน่ใจว่าตัวเองดีพอแล้วหรือเปล่า หรือจะเป็นเราที่ทำได้ไม่ดีพาทีมซวย หากใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ลองดูคำแนะนำเหล่านี้ก่อนดีไหม    



ความจริงแล้ว ความกลัวเป็นเรื่องธรรมชาติที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ ความกลัวทำให้เราจับอาวุธสู้กับสัตว์ วิ่งสุดชีวิตเพื่อหาที่หลบภัยในทุ่งหญ้าสะวันนา แต่ถึงแม้ความกลัวจะมีข้อดี แต่มันก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน ความกลัว ความไม่กล้าอาจส่งผลเสียต่อความมั่นใจที่ว่า ‘ฉันทำได้’ ให้พังทลาย ทำให้เราพลาดเป้าหมายสำคัญ ตำแหน่งสำคัญอย่างน่าเสียดายได้เช่นเดียวกัน 


ความกลัวเหล่านี้เกิดจากอะไร ? ตามกลไกของร่างกายความกลัวบางครั้งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราไม่เก่ง หรืออ่อนซ้อมหรอกนะคะ แต่มันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายทั่วไป เหมือนกินพริกก็เผ็ด กินมะระแล้วขม ความกลัวก็เช่นกัน มันเกิดจากฮอร์โมน 2 ชนิด นั่นก็คือ อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล เจ้าสองตัวนี้เป็นฮอร์โมนที่มักจะหลั่งเมื่อเรามีภาวะเครียด เผชิญหน้ากับเหตุการณ์คับขัน หรือมีเรื่องให้ประหม่าอย่างการนำเสนองานต่อหน้าคนเยอะ ๆ นี่แหละ แต่เมื่อมันหลั่งออกมาแล้ว มันก็จะลดลงมาอยู่ในระดับปกติได้ หากเรารู้วิธีที่จะควบคุมมัน นักวิทยาศาสตร์เฉลยมานานแล้วว่าความกลัวของคนเราควบคุมได้    

 


กินพริกแล้วเผ็ด เรายังรู้ว่าต้องเอาเกลือมาอมไว้เพราะรสเค็มจะแทนที่รสเผ็ดได้ไวที่สุด เช่นเดียวกันหากเรากลัว เราก็ต้องมีกลยุทธ์มารับมือให้มันเด็ดขาด เอามันให้อยู่แล้วจะได้ไม่ต้องกลัวกับอะไรอีก อย่าเเลกเป้าหมายสำคัญของเรากับความกลัวที่ควบคุมได้ และนี่คือ 5 วิธีที่ดีที่สุด เวิร์กที่สุดที่สามารถเอาชนะทุกความกลัวเมื่อต้องพูดนำเสนองาน 



5 วิธีเอาชนะความกลัว เมื่อต้องพูดนำเสนองาน


ไม่รู้ว่าจะใส่อะไรดี

สิ่งที่เกิดขึ้น: วันสำคัญใกล้เข้ามาถึง อีกไม่กี่ 24 ชั่วโมงข้างหน้าต้องนำเสนองานแล้ว สำหรับน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาอาจไม่ต้องใช้ความคิดมากกับการคิดชุด แต่สำหรับพนักงานบริษัท ประธานบริษัท เจ้าของธุรกิจ ฯลฯ ต้องมีบ้างล่ะที่จะปวดหัวเพราะคิดชุดที่จะใส่ไม่ออก 


วิธีรับมือ: นักจิตบำบัดบอกเอาไว้ว่า เครื่องแบบที่เหมาะกับสถานการณ์จะช่วยให้เรามองตัวเองในแง่บวกมากขึ้น นั่นอาจหมายถึงการลงทุนกับชุดแบรนด์เนมหรือเปล่านะ ? เปล่าเลยค่ะ ชุดที่ดีคือชุดที่เราใส่แล้วมั่นใจมากที่สุด ถามตัวเองว่างานนำเสนอนี้กำหนดธีมชุดไหม ? ผู้ฟังส่วนใหญ่จะแต่งตัวแบบไหน ? สถานที่ที่จะไปพูดเป็นอย่างไร ? แล้วเลือกชุดที่เหมาะสม รีดเสื้อผ้าให้เรียบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อม เสริมสีสัน ใส่สไตล์ของตัวเองลงไปนิดหน่อยให้มีชีวิตชีวา มั่นใจว่าชุดชั้นในของเราจะไม่หลุด ไม่เลื่อน (โดยเฉพาะสายเสื้อในผู้หญิง) เสร็จแล้วให้เพื่อนที่ไว้ใจดูชุดให้รอบ Final ก็จะดีขึ้นไปอีก  

 


ไม่เชื่อว่าตัวเองจะพูดได้ตลอดรอดฝั่ง

สิ่งที่เกิดขึ้น: ซ้อม ๆ พูดอยู่ก็เกิดพูดผิดประเด็น แล้วก็เกิดอาการจิตตก เหมือนซ้อมมาได้ดี 99 ครั้งไม่เห็นค่า แต่มาหมดกำลังใจกับ 1 ครั้งที่ทำพลาด จนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางที่จะนำเสนอผลงานออกมาได้ แม้ว่าจะฝึกซ้อมมาแล้วเป็นร้อยครั้ง


วิธีรับมือ: เวลาที่คนเราซ้อมทำอะไรสักอย่างซ้ำ ๆ เป็นวันเป็นเดือน จนในที่สุดสิ่งที่เราซ้อมอยู่ก็กลายเป็นเรื่องที่เราทำได้โดยอัตโนมัติ เพราะเราใกล้ชิด อยู่กับมันมากจนเกินไป ทำให้เรามองไม่เห็นว่าเราเก่งแค่ไหนเพราะเราทำได้แล้ว จนคิดว่ามันยังไม่เจ๋งพอ หากเกิดอาการแบบนี้ให้ออกไปทำอย่างอื่น ไปเดินเล่น ไปกินข้าว ไปเจอเพื่อน พักเบรกสักแป๊บหนึ่ง แล้วกลับมาซ้อมใหญ่แค่นั้นจบ และอย่าลืมจดโน้ตหัวข้อหลัก ๆ ที่จะพูดลงในกระดาษเล็ก ๆ เท่าฝ่ามือเอาไว้ดูกันลืมก็จะดีเลยค่ะ



การสูญเสียความมั่นใจกะทันหัน

สิ่งที่เกิดขึ้น: ระหว่างที่พูดนำเสนออยู่ เราอาจเผลอเดินสะดุดเวที หรือจามออกมาเสียงดังมาก ๆ พูดผิด พูดคำผวน พูดสำเนียงบ้านเกิด หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เราสะดุดจากประเด็น จนทำให้เกิดสูญเสียความมั่นใจไปกะทันหัน และเผลอ ๆ ทำให้เกิดภาวะสมองว่างเปล่ากะทันหัน ลืมสิ่งที่จะพูด ! 

 

วิธีรับมือ: หากเราทำท่าทางอะไรที่ตามที่เราไม่ได้ตั้งใจ เช่น ไอ จาม พูดคำผวน พูดผิด ก็ให้เราขอโทษผู้ฟังทันที เพราะมันเป็นการทำให้ความผิดพลาดนั้นจบ การขอโทษเป็นการสะบัดความผิดพลาดออกไป แล้วให้เราโฟกัสสิ่งที่จะพูดที่เหลือ สูดหายใจลึก ๆ ยืดไหล่ไปข้างหลัง ดันอกออกมาเล็กน้อย เชิดคาง และสบตาคนอื่น ด้วยท่าเสริมสร้างพลัง (Power Pose) นี้เองก็จะช่วยให้เราเรียกความมั่นใจออกมาใหม่ได้ หรือจะขอเวลาจิบน้ำแล้วคิดซะว่าเราได้กลืนความผิดพลาดนั้น ๆ ลงคอไปเลยก็ได้ค่ะ เสร็จแล้วไม่ต้องคิดอะไร เริ่มใหม่ให้ดีกว่าเดิม 



เกร็งไปหมดเพราะคนฟังมีแต่คนระดับ BIG !

สิ่งที่เกิดขึ้น: บางครั้งเราก็กลัวที่จะพูดอะไรก็ตามต่อหน้าคนเก่ง ๆ ที่รู้เรื่องนั้นดีกว่าเราถูกไหมคะ ? หรือคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา คนมีอำนาจหรือมีตำแหน่งที่สูงกว่าเรา กลัวว่าตัวเองจะไม่เก่ง ไม่เจ๋งพอเทียบเท่ากับคนเหล่านั้น กลัวว่าพูดไปแล้ว เขาจะไม่เชื่อและไม่ได้รับความร่วมมือแบบที่เราต้องการ 


วิธีรับมือ: มองหาเพื่อนในหมู่คนฟัง มองหาใบหน้าที่เป็นมิตรที่สุดในหมู่คนฟัง แล้วยึดความเป็นมิตรนั้นเสมือนเรากำลังพูดกับเขา หากเป็นการนำเสนองานออนไลน์แบบที่ปิดกล้อง ก็ให้เราตั้งสติและพยายามทำให้ดีที่สุด ความพยายามเป็นเสน่ห์ที่ยากจะต้านทานค่ะ เป็นสิ่งที่ไม่เห็นแต่สัมผัสได้ เวลาที่เราพูดนำเสนออะไรก็ตามด้วยความตั้งใจ แม้สิ่งที่เราพูดจะไม่ถึงในแง่ของความเข้มข้นครบถ้วน แต่ความตั้งใจของเรา ความพยายามซ้อม พูดคำศัพท์ยาก ๆ ได้คล่อง การออกเสียง น้ำเสียงที่มั่นใจจะทำให้เราได้คะแนนความพยายาม แล้วใครจะไม่อยากให้ความร่วมมือกับคนที่พยายามบ้าง ใคร ๆ ก็รักคนที่พยายามทั้งนั้น 



มองดูแล้วคนฟังไม่มีส่วนร่วมด้วยเลย

สิ่งที่เกิดขึ้น: กำลังพูด ๆ อยู่แต่ไม่รู้สึกถึงความกระตือรือร้นของคนฟังเลย ไม่ว่าจะเสนออะไรไป พูดไปเท่าไหร่ ก็รู้สึกเหมือนกำลังพูดอยู่คนเดียว แต่ไม่มีใครฟัง คนฟังไม่ได้อินหรือสนใจกับสิ่งที่เรากำลังพูด จนทำให้ถอดใจ หมดแรง คิดว่าตัวเองเป็นผู้พูดที่น่าเบื่อหรือเปล่านะ ?  


วิธีรับมือ: การพูดให้คนอื่นอยากฟังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ฝึกได้ สิ่งที่จะทำให้เนื้อหาน่าฟัง น่าติดตาม อันดับแรกคือน้ำเสียง พูดให้เสียงมีความสูงต่ำน่าติดตาม เมื่ออยากเน้นตรงจุดไหนให้ทำมือประกอบ (อ่านบทความพัฒนาเสียงพูดให้น่าฟังได้ ที่นี่) ส่งสัญญาณให้คนฟังตื่นตัว ถามคำถามคนฟังบ้าง ให้คนฟังได้คิดตาม สบตาคนที่สบตากับคุณ ยิ้มให้กับคนที่ยิ้มให้คุณ 


อีกอย่างคืออย่าลืมใส่ความหลากหลายในวิธีการพูด ที่ตั้งอยู่บนความหมายที่เราพยายามจะสื่อ ใช้คำที่เห็นภาพง่าย ๆ และสุดท้ายอย่าพูดช้าหรือว่าเร็วเกินไป ควรพูดให้อยู่ในความเร็ว 110 - 170 คำต่อนาที แค่นี้ก็จะช่วยให้คนฟังติดตามเรื่องที่เรานำเสนอตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างอยู่หมัด 


ได้เทคนิคเอาชนะทุกความกลัว เมื่อต้องนำเสนองานไปแล้ว หากใครอยากเพิ่มเทคนิคที่สำคัญไม่แพ้เทคนิคการนำเสนอ นั่นก็คือการออกแบบพรีเซนต์เทชั่น ต้องคอร์ส ‘Shortcut PowerPoint​ Design’ คอร์สเรียนออนไลน์ที่จะมาเสริมให้งานนำเสนอของเราดียิ่งขึ้น เรียนจบแล้วรับรองว่า การนำเสนองานครั้งต่อไปจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณทันที สมัครเลย 



ที่มาข้อมูล

  • https://www.nike.com/th/a/how-to-break-through-mental-blocks
  • แอนเดอร์สัน,คริส.TEDTalks:TheOfficialTEDGuidetoPublicSpeaking.กรุงเทพฯ:โอเพ่นเวิลด์สพับลิซชิ่งเฮาส์.
  • https://www.phyathai.com/article_detail/2561/th/8_%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99