เท่าที่สังเกตมาคนที่พรีเซนต์งานเก่ง ๆ พวกเขาไม่ได้สนใจแค่การทำสไลด์ให้ดูดี พูดให้คล่องเท่านั้นนะคะ นักพูดเก่ง ๆ หลายต่อหลายคนต่างให้ความสำคัญกับ ‘Non-Verbal communication’ หรือ การสื่อสารด้วยท่าทางที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสื่อความหมาย เช่น การส่ายศีรษะแสดงว่าปฏิเสธ การโบกมือแสดงถึงการทักทายหรือการบอกลา เป็นต้น เพราะพวกเขารู้ว่าการสื่อสารเพียงแค่คำพูดนั้นอาจไม่เพียงพอต่อการพรีเซนต์อะไรสักอย่างให้ผู้คนสนใจได้
Dr. Albert Mehrabian ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้สรุปผลการศึกษาและทฤษฎีของเขา (Mehrabian Communication Theory) ไว้ในหนังสือชื่อ Silent Messages ตั้งแต่ปี 1971 ว่า ความเข้าใจในความหมาย อารมณ์ และความรู้สึกของผู้ฟังนั้น ร้อยละ 7 มาจากคำพูด, ร้อยละ 38 มาจากน้ำเสียง, และร้อยละ 55 มาจากภาษากายของผู้พูด หรือกฏ 7-38-55 ที่เรารู้จักกันดี
หลายคนอาจคิดว่า มั่วหรือเปล่าเนี่ย ? ที่คนเราจะเข้าใจภาษากายได้ดีกว่าภาษาพูด เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปสมัยที่เรายังอยู่ตามทุ่งหญ้าสะวันนา นอนในถ้ำกับเสือกับหมี มนุษย์สื่อสารกันด้วยอวัจนภาษากันมาตั้งแต่ก่อนจะมีภาษาพูด ดังนั้นสัญชาตญาณในการทำความเข้าใจจากอวัจนภาษาได้ฝังลึกอยู่ในสมองและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ แม้ในภายหลังเราจะพัฒนาขึ้นมาจนมีภาษาพูดก็ตาม เรายังวิเคราะห์อวัจนภาษาของมนุษย์ด้วยกันอยู่ตลอดเวลา เช่น หากเราถามเพื่อนร่วมงานที่ฟังเราพูดอยู่ว่า ‘เข้าใจหรือเปล่าครับ’ แม้เพื่อนร่วมงานจะพูดว่า ‘เข้าใจค่ะ’ ด้วยท่าทางกอดอกและยักไหล่ แน่ละว่าเราย่อมไม่เชื่อสิ่งที่เพื่อนร่วมงานพูดอย่างแน่นอน
ดังนั้นเมื่อไหร่ที่คำพูดและอวัจนภาษาท่าทางของผู้พูดไม่สอดคล้องกัน ผู้ฟังมักจะเชื่ออวัจนภาษามากกว่าคำพูด ทำให้การมีท่าทางที่ดีระหว่างพรีเซนต์งานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในขณะเดียวกัน หากท่าทาง อวัจนภาษาของเรามันผิดพลาด เราก็คงต้องออกมาจากห้องพรีเซนต์งานนั้นพร้อมความรู้สึกที่ว่า โธ่ ฉันยังไม่ได้แสดงตัวตนจริง ๆ ของฉันเลย ซึ่งน่าเสียดายมาก แต่ข่าวดีก็คือท่าท่างอวัจนภาษาเป็นเรื่องที่ฝึกได้ และนี่คือท่าทางที่ใช้ในการพรีเซนต์งานที่เหล่านักพูดชื่อดังต่างก็ใช้กัน ให้เราเลือกไปปรับใช้กับตัวเองได้ตามสะดวก
Cr.Gatenotes
อวัจนภาษารวมถึงการแสดงออกทางสีหน้าด้วยค่ะ เพราะสีหน้าคือทุกอย่าง เวลาคนฟังเขามองเราพูด เขาก็มองที่หน้าเรา ดังนั้นการแสดงออกผ่านทุกสิ่งที่อยู่บนหน้าจึงส่งผลต่อการพรีเซนต์งานว่าจะราบรื่นหรือไม่ไล่ตั้งแต่คิ้ว ตา จมูก และปากลงไป ต้องควบคุมทุกอย่างให้ ‘Positive’ อยู่เสมอ
Cr. Sheryl Sandberg facebook
นอกจากสีหน้าแล้ว ท่ายืน การใช้ร่างกายสื่อสารตั้งแต่คอถึงปลายเท้าก็มีส่วนสำคัญในการสื่อสารทาอวัจนภาษา ทำให้เห็นถึงบุคลิค ความพร้อม ความมั่นใจของคน ๆ นั้นได้เมื่ออยู่บนเวที ท่ายืนที่ควรเลี่ยงคือการถ่ายเทน้ำหนักเอนตัวไปทางใดทางหนึ่งมากไป หลังงอ คอตก
Cr. apple
ท่าท่างหมายถึงการใช้มือ การยกแขน ล้วนสำคัญต่อการพรีเซนต์งาน เรียกว่าเป็นการสื่อสารทางอวัจนภาษาที่จะช่วยให้คนฟังเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะสื่อมากที่สุด
Cr. Tony Robbins
การขยับเดินระหว่างที่พรีเซนต์เป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับสิ่งที่พูดได้ ทำให้คนฟังไม่รู้สึกเบื่อ Tony Robbins ไลฟ์โค้ชชื่อดังมักจะใช้เทคนิคการเดินบนเวทีเพื่อให้ผู้ฟังสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเขา เขาชอบใช้พื้นที่บนเวที เดินไปมาอย่างมีพลังล้นเหลือเพื่อสื่อสารกับคนฟังว่าเขาตื่นเต้นที่จะช่วยผลักดันผู้คนให้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น
ที่มาข้อมูล