เรียนรู้ที่จะอยู่กับ Covid ยังไงให้รอด
1419 views | 16/12/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator

     เมื่อเราอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดร้ายแรงทั่วโลกมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ต่อพฤติกรรมการดูแลสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ New Normal ในอนาคตที่เราทุกคนต้องปรับตัวด้วย อันที่จริงแล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์ COVID-19 ระบาดนั้น เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะ อยู่กับโควิด ให้ได้เป็นอย่างดีในหลายมิติ ทั้งด้านการใส่ใจสุขภาพ การจับจ่ายใช้สอย การเก็บออมและบริหารการเงินเพื่อประกันความเสี่ยงในระยะยาวให้มากกว่าที่เคย วันนี้เราจึงมีคำแนะนำดี ๆ การปรับตัวในแต่ละสาขาอาชีพในโลกที่มีเทรนด์เปลี่ยนแปลงไป 


1. มีมาตรฐานการดูแลสุขภาพที่สูงขึ้น

     คำว่า การ์ดอย่าตก เป็นคำฮิตติดปากของหลายคนไปแล้วนับแต่ช่วงที่ไวรัสโควิดระบาดอย่างหนักจนถึงปัจจุบันที่ยังต้องเฝ้าระวังกันอยู่ สิ่งที่เราต้องใส่ใจตลอดเวลานับจากนี้ไปเพื่ออยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย ได้แก่

  • การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี และไม่ถอดหน้ากากออกในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ใกล้หรือต้องพูดคุยกับคนอื่นในระยะห่าง 2 เมตร
  • การใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป และหมั่นตรวจสอบว่ายังไม่หมดอายุ พกติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อหยิบใช้ทำความสะอาดมือได้สะดวก ทำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด
  • ล้างมือด้วยน้ำสะอาดเป็นประจำก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตและเตือนบ่อย ๆ 
  • สเปรย์แอลกอฮอล์บริเวณโต๊ะทำงาน คีย์บอร์ด เมาส์ มือถือ พวงกุญแจรถ ฯลฯ เป็นระยะ เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่มองข้าม อาจมีเชื้อไวรัส covid-19 อยู่ได้



2. ระมัดระวังการใช้อุปกรณ์ในพื้นที่สาธารณะร่วมกับคนอื่น

การระมัดระวังกิจกรรมที่ต้องใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นนับจากนี้ ยกตัวอย่างเช่น 

  • การใช้อุปกรณ์ในห้องฟิตเนส สระว่ายน้ำ สนามซ้อมบอล ค่ายมวย ฯลฯ ต้องหมั่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
  • ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ร้านอาหาร ต้องมีโต๊ะเก้าอี้ที่ตั้งระยะห่างไม่น้อยกว่า 1.5-2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่กัน
  • การปาร์ตี้สังสรรค์ที่มีเครื่องดื่้มแอลกอฮอล์ ห้องคาราโอเกะ ฯลฯ ต้องมีการควบคุมดูแล เพราะเป็นกิจกรรมที่มักใกล้ชิดกัน
  • การใช้ลิฟต์ ลูกบิดประตู บานเลื่อน ฯลฯ ควรฉีดแอลกอฮอล์ก่อนสัมผัส หรือใช้ข้อศอกแทนนิ้วมือในการจับ



3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการบริหารการเงิน

การใช้จ่ายเงินสดที่เปลี่ยนไป และการวางแผนการเงินที่ต้องรัดกุมเพื่อให้เรา อยู่กับโควิด ได้อย่างปลอดภัยทางการเงิน มีดังนี้

  • จ่ายทางมือถือแทนเงินสด ในช่วงก่อนหน้านี้นับสิบปีมีการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาบ้างแล้ว แต่ช่วงขณะที่มีการระบาดหนักของไวรัส โควิดวันนี้ ก็ยิ่งเป็นสถานการณ์บังคับให้เราทุกคนหันมาจ่ายเงินทางออนไลน์แทนเงินสด อาทิ การช้อปปิ้งออนไลน์ในลาซาด้า ช้อปปี้ แม้แต่ร้านค้าทั่วไปยังรับเงินผ่านระบบพร้อมเพย์มากขึ้นเพื่อลดการหยิบจับธนบัตรและเหรียญ
  • ใช้สิทธิ์คนละครึ่งซื้อของ สิทธิคนละครึ่งได้รับความนิยมมากทั้งฝั่งผู้ซื้อที่ได้รับประโยชน์สูง เหมือนรัฐบาลช่วยจ่ายเงินค่าสิ่งของครึ่งหนึ่ง ส่วนฝั่งผู้ขายก็ได้ขายสินค้าง่ายขึ้นเพราะผู้ซื้อมีกำลังทรัพย์มากขึ้น เป็นการกระจายกระแสเงินสดที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิม คนที่อยากประหยัดได้มากขึ้น ควรใช้สิทธิ์นี้และติดตามนโยบายอื่น ๆ ที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนต่อไป
  • วางแผนการเงินรอบคอบขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อไวรัส โควิดวันนี้ เกิดการระบาดซ้ำรอบสองและรอบสาม ก็ยิ่งทำให้เราทุกคนมีฐานะการเงินที่ยากลำบากมากขึ้น เพราะเงินเก็บสำรองร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ หนำซ้ำยังเกิดหนี้สินค้างชำระจากการผ่อนบ้านและรถยนต์ที่ค้างอยู่อีกมาก ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาเทคนิคการประนอมหนี้ และวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบมากกว่าเดิม พยายามหารายได้เสริมและลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และตั้งเป้าหมายมีเงินสำรองไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี แทน 6 เดือน ที่เคยเป็นมาตรฐานทั่วไป



4. การทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตลดความเสี่ยง

     ในอดีตที่ผ่านมา หลายคนอาจรู้สึกว่าการทำประกันเป็นเรื่องไม่จำเป็นและทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่เมื่อมีการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโควิดจำนวนมากทั่วโลก ก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการประกันความเสี่ยงด้วยกรมธรรม์ต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ

  • ประกันสุขภาพ

     การทำประกันสุขภาพ หมายถึง การมีตัวช่วยจ่ายค่านอนโรงพยาบาลหลายพันบาทต่อคืน และค่าชดเชยจากการทำงานไม่ได้อีกหลายพันบาทเช่นกัน ทำให้ไม่ต้องเดือดร้อนใช้เงินออมหรือต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงในกรณีที่เสียชีวิตจากโรคโควิด ญาติที่ถูกระบุการได้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงินชดเชยจากกรมธรรม์เป็นการประกันความเสี่ยงว่าคนที่เรารักจะปลอดภัยทางการเงิน ในวันที่เราเสียชีวิตจากโควิดแบบปุบปับ

  • ประกันชีวิต

     การทำประกันชีวิตจะได้รับผลตอบแทนหรือที่เรียกว่าวงเงินคุ้มครองมากน้อยแตกต่างกันไปตามเบี้ยประกันที่ส่งรายเดือนหรือรายปี ผู้ที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัวอยู่ควรพิจารณาการทำประกันชีวิตไว้ โดยพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างละเอียดด้วย เพราะโควิดมักโจมตีผู้สูงอายุและผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี หากไม่ต้องการให้ลูกหลานต้องอยู่อย่างลำบากหากเราจากไปด้วยโควิด หรือโรคอื่น ๆ ในอนาคต ก็ควรทำประกันชีวิตไว้ เพื่อให้พวกเขายังพอมีเงินจำนวนหนึ่งเพื่อการตั้งตัวต่อไปได้



5. หมั่นติดตามข่าวสารเรื่องวัคซีนและอาหารเสริมป้องกันโควิด

     ในขณะนี้ COVID-19 ถือว่าเป็นโรคใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ทั้งยังต้องเก็บข้อมูลต่อไปอีกนับ 10 ปี เพื่อตรวจสอบอาการข้างเคียงในระยะยาว เราต้องไม่ลืมว่ากว่าที่เราจะมีวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ อย่างปัจจุบัน อาทิ วัคซีนที่ให้ในเด็กเล็ก ทั้งป้องกันโรคหัดเยอรมัน คอตีบ ไอกรน โปลิโอ หรือวัคซีนที่ฉีดในเฉพาะกรณี เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ ก็ล้วนใช้เวลาศึกษาคิดค้นมานานต่อเนื่องหลายปี


      ในปัจจุบันการฉีดวัคซีนไวรัสโควิดชนิดต่าง ๆ อาจช่วยให้เรามีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นได้ระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจำเป็นต้องฉีดเป็นระยะทุก ๆ ปี เพื่อให้ตัวเราเองและคนในครอบครัว ตลอดจนเพื่อนร่วมงานและคนใกล้ชิดอื่น ๆ เช่น ผู้โดยสารในรถสาธารณะร่วมกัน ผู้ที่อยู่ในโรงหนังเดียวกัน ฯลฯ ได้รับความปลอดภัยจากโรคนี้ให้มากที่สุด อันถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคน


     นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงและป้องกันความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด ด้วยการบำรุงจากวิตามินต่าง ๆ ที่มีการศึกษาวิจัยว่า ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการจัดการกับเชื้อไวรัสได้ เช่น วิตามินซี วิตามินดี สังกะสี ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราทุกคนควรซื้อหามาบริโภคไว้เป็นประจำ หรืออาจจะเป็นวิตามินที่อยู่ในสารสกัดจากสมุนไพรอื่น ๆ เช่น โสม ขมิ้นชัน ฯลฯ ก็ได้ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่มีความชำนาญ เพื่อดูว่าจะเกิดการตีกันกับยาที่ใช้อยู่ประจำหรือไม่ด้วย หากคุณมีโรคประจำตัวใด ๆ อยู่



6. ติดตามกฎกติกาก่อนเดินทาง

    การเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือการเดินทางข้ามประเทศนั้น เราควรศึกษาข้อมูลให้ดีว่า มีอัตราการเจ็บป่วยด้วย covid สูงขึ้นหรือไม่ กำลังระบาดหนักในพื้นที่ใด มีสถิติในการควบคุมโรคได้ดีแค่ไหน ฯลฯ รวมถึงมาตรการที่เจ้าหน้าที่ทางการในประเทศประกาศ เพื่อจำกัดการเดินทางเข้าออกของนักท่องเที่ยว เช่น บางประเทศกำหนดว่าเราต้องมีเอกสารรับรองชัดเจนว่าได้ฉีดวัคซีนจนครบ 2 เข็มแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์ไปสู่พื้นที่ปลายทาง เราจึงต้องมีความรับผิดชอบที่จะป้องกันทั้งตัวเองและเห็นใจผู้อื่น ด้วยการฉีดวัคซีนให้ครบก่อนเดินทาง ไม่ไปอย่างลักลอบผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด


     เราทุกคนต่างต้องปรับตัวเรียนรู้ เพื่อที่จะอยู่กับไวรัสโควิดได้ต่อไปอีกยาวนาน ทั้งยังต้องฝึกฝนวินัยในการดูแลตัวเองแก่ลูกหลาน เพราะเด็ก ๆ มักจะขาดความระมัดระวัง จึงต้องมีผู้ใหญ่เป็นต้นแบบที่ดีและคอยแนะนำ หากปฏิบัติได้เป็นประจำจนเป็นนิสัย ก็จะทำให้เราทุกคนปลอดภัยจากไวรัสโควิดได้ และในที่สุดจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในทุกครอบครัวนั่นเอง

ที่มาข้อมูล

  • https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/tips-for-you/corona-make-change.html
  • https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/working-after-covid
  • https://www.bbc.com/thai/international-57887146
  • https://www.chula.ac.th/highlight/47547/
  • https://mgronline.com/qol/detail/9640000038856
  • https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256305Inspiration_Thana.aspx
  • https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/493/เก็บตัวอยู่บ้าน-โควิด/