ปัจจุบันความกดดันและความคาดหวังของคนทำงานที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดปรากฎการณ์การลาออกของพนักงานมหาศาลที่เรียกว่า “The Great Resignation” ซึ่งมีผลต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทย ยังไม่แน่ชัดว่า “The Great Resignation” จะส่งผลต่อประเทศหรือไม่ องค์กร บริษัท หรือ หัวหน้าทีม ต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรักษาพนักงานที่มีศักยภาพ ให้ยังอยากจับมือและเดินไปพร้อมกับองค์กร ก่อนที่จะสายเกินเยียวยา
องค์กรและหัวหน้าต้องบริหารอย่างไรถึง “ได้ใจ” และ “ได้งาน” ทีมงาน ตามแบบฉบับองค์กรยุคใหม่ ซึ่งต้องเผชิญกับโจทย์ความท้าทายใหม่จากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
ผู้นำในโลกวันนี้ต้องปรับตัวอย่างไร?
แต่เดิมเราจะรู้ว่าการเป็นผู้นำมักจะอยู่ในจุดที่ถูกคาดหวังให้เป็นคนกำหนดทิศทางและให้คำตอบในปัญหาและสถานการณ์ท้าทายต่าง ๆ แต่ปัจจุบันความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนจากสภาพแวดล้อม ทำให้ผู้นำไม่สามารถใช้ชุดทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมและไม่ได้มีทุกคำตอบเมื่อต้องเผชิญกับการทำงานที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ได้
ผู้นำในยุควันข้างหน้าจึงต้องปรับมุมมอง (Mindset) และความเชื่อเกี่ยวกับรูปแบบการนำทีมที่เคยใช้ได้ผลสำเร็จในอดีต และมุ่งเน้นการลับคมทักษะการนำทีมแบบใหม่ โดยเน้นใช้ทักษะการฟังและการสร้างบทสนทนาที่เน้นให้ทีมงานมีส่วนร่วม (Engage) และสร้างความมั่นใจและแรงบันดาลใจ (Motivation) ให้ทีมงานมองข้ามข้อจำกัดและกล้าทดลองสิ่งใหม่ ๆ รวมถึงกระตุ้นให้ทีมงานหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และต่อยอดจากข้อผิดพลาดอย่างสม่ำเสมอ
ผู้นำยุคข้างหน้าสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง
ผู้นำยุคใหม่จะไม่เน้นเฉพาะความเก่งในงาน (Hard Skills) เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้นำที่เปิดใจในการปรับตัวและพัฒนารอบด้านให้เก่งในการนำคน รวมถึง Soft Skills ต่าง ๆ ด้วย การอัพสกิลทักษะภาวะผู้นำในยุคข้างหน้าจะเน้นการสร้างผู้นำแบบที่เรียกว่า “The New Age Leadership” คือ ผู้นำที่กล้ายอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เปิดกว้างรับฟังมุมมองความคิดเห็นของทุกคนในทีม และเป็นผู้นำที่เน้นเรื่องการสร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมและสร้างแรงขับเพื่อชวนคนในทีมให้กล้าออกไปหาคำตอบในสิ่งที่เราไม่รู้ไปด้วยกัน
Leadership ภาวะผู้นำ
ภาวะผู้นำสามารถสร้างให้เกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับตำแหน่ง โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นชื่อตำแหน่งงานระบุไว้ชัดเจนว่าเป็น หัวหน้างาน หรือผู้บริหารเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถมีทักษะในเรื่องของภาวะผู้นำได้ทั้งสิ้น คนที่มีทักษะเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่ดีอยู่ในตัว โดยพื้นฐานจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้ได้ผลลัพท์ที่แตกต่าง ทั้งที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองและที่ขับเคลื่อนผ่านการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าทางอาชีพการงานได้มากกว่า
3 หัวข้อเทคนิคสำหรับผู้นำยุคโลกเปลี่ยน “The New Age Leadership”
1. สร้างบรรยากาศและบทสนทนาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทีม
2. เน้นการใส่ใจและการทำความเข้าใจทีมงานเพื่อปรับสไตล์การนำให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไป
3. สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่นและคล่องตัวผ่านการทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง (lead by example)
สร้างบรรยากาศและบทสนทนาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทีม
การบริหารทีมทำงานทุกวันนี้ ผู้บริหารไม่อาจมีคำตอบให้ได้กับทุกเรื่อง จึงจำเป็นต้องใช้ ‘ทีม’ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญสำหรับผู้นำคือ ต้องอัพสกิลโดยเน้นเรื่องของการฟังและการสร้างบทสนทนาที่กระตุ้นให้ทีมงานมองเห็นภาพความสำเร็จและเห็นความหมายของการทำสิ่งนี้ โดย
1. เชื่อมโยงเป้าหมายภาพใหญ่กับคุณค่า (Value) ของสิ่งที่เป็นความสำคัญในระดับทีมงานและในระดับบุคคลเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อน (Motivation)
2. สร้างบทสนทนาที่เน้นตั้งคำถามไปที่ความเป็นไปได้ข้างหน้ามากกว่ากล่าวตำหนิหรือบ่นเกี่ยวกับความผิดพลาดหรือข้อจำกัดในอดีตเพื่อชวนให้เห็นโอกาสใหม่ ๆ
3. เน้นชวนคุยให้ทีมงานร่วมกันคิดหาคำตอบและออกไปทดลองมากกว่าเน้นให้คำตอบในสิ่งที่หัวหน้ามองว่าอยากให้ทำ
วัฒนธรรมองค์กรและบรรยากาศภายในองค์กร
ปัจจัยสำคัญที่พาองค์กรไปถึงความสำเร็จคือบรรยากาศ กล่าวคือ ใช้การสื่อสารพูดคุยกันเยอะ เช่น พี่ ๆ ก็เคารพรับฟังน้อง ๆ และทุกคนกล้าเดินมาคุยเสนอไอเดียกับพี่ ๆ ว่าอยากทดลองทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่พนักงานทุกคนมีเหมือนกันคือ Passion มีใจรัก ทุ่มเทให้กับงาน และพร้อมที่จะรวมพลังด้วยการเปิดกว้างเรื่องความคิด ไม่มีผิดไม่มีถูก พร้อมที่จะ Learning by Doing ไปด้วยกัน ถ้าล้มก็รีบลุกขึ้นตั้งหลัก เรียนรู้และเริ่มทำใหม่ ซึ่งการที่คนในองค์กรคุยกันบ่อย ๆ จะช่วยทำให้สิ่งที่ทำง่ายขึ้นคอยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนใหม่กับคนเก่าตลอดเวลา
หมดยุค One-Size-Fit-All
ผู้นำยุคใหม่ต้องอ่านทีมให้ออก “ใส่ใจ” และ “เข้าใจ” การบริหารทีมทำงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรแบบเป็นหนึ่งเดียว ผู้นำจะขับเคลื่อนผลลัพธ์ได้ต้องใช้ทักษะในสามด้านคือ
1. ทักษะด้านการคิด (Head) ซึ่งเป็นเรื่องของมุมมองและการกำหนดทิศทาง
2. การสร้างขวัญและกำลังใจ (Heart)
3. การขับเคลื่อนและพัฒนาให้ทีมงานสามารถลงมือทำไปพร้อมกัน
ซึ่งบริบทการทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้ทีมงานเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน หลายคนต้องปรับตัวมาก ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ หลายคนเกิดความเครียดรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในสิ่งที่ทำอยู่ บางคนปรับตัวไม่ได้ เกิดสภาวะจิตตก หรือ Burn Out เมื่อทีมงานแต่ละคนอยู่ในสถานการณ์ต่างกัน ต้องรับผิดชอบงานที่ต่างกัน ประเด็นสำคัญคือ การเป็นผู้นำยุคนี้ต้องอ่านลูกน้องให้ออก และปรับรูปแบบที่ใช้ตามแต่สถานการณ์ อย่าใช้รูปแบบของ One-Size-Fit-All เพราะสิ่งที่เราทำ ที่เราให้ อาจไม่ตรงกับสิ่งที่ลูกน้องเรากำลังต้องการก็ได้ ดังนั้น การเป็นผู้นำในยุคนี้แทนที่จะเน้นที่สไตล์การนำที่เราเคยใช้ได้ผลดี อาจต้องเน้นการ “ใส่ใจ” และ “ทำความเข้าใจ” ในสิ่งที่ทีมงานต้องการการสนับสนุนจากเรา เพื่อปรับสไตล์และวิธีการให้เหมาะสม
Caring & Listening
ควรคอยดูว่าพนักงานต้องการอะไร เช่น เมื่อต้อง Work From Home ก็มีการส่งอุปกรณ์การทำงานถึงที่บ้าน มีการให้กำลังใจกันอย่างสม่ำเสมอ อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจ พยายามฟังเสียงว่าใครกำลังอยากได้อะไร กำลังเจอสิ่งที่ยากตรงไหน ซึ่งพนักงานจะรู้สึกได้ พอคนรู้สึกได้ถึงความใส่ใจ ผลลัพธ์ก็สะท้อนกลับมาเป็นพลังในการทำงาน เป็น Passion ที่สะท้อนออกมาผ่านการแก้ปัญหาต่าง ๆ
เป็นผู้นำต้องทำก่อน
สร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ผ่านการทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง (Lead by Example) จะเป็นกระจกสะท้อนที่ดีที่สุดของ Brand และคนในองค์กรของวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งในยุคแห่งกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนแนวทางการปฏิบัติในตำราต่าง ๆ ตามไม่ทัน ทำให้วัฒนธรรมการทำงานที่แข็งแรงที่คนในองค์กรพร้อมปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นที่จะลองทำสิ่งใหม่ถือเป็นอาวุธสำคัญของหลาย ๆ องค์กรที่ต้องเร่งสร้าง ซึ่งแน่นอนที่สุด จุดยากของเรื่องนี้คือการที่ผู้นำจะต้องเริ่มก่อน ต้องเริ่มจากปรับวิธีคิดและสร้างความเชื่อใหม่กับตัวเองก่อน จากนั้นจึงทำแบบอย่าง (Role Model) และทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเราสามารถสร้างความเชื่อนี้ ให้กับทีมงานของเราในการทำงานรูปแบบใหม่ได้
คีย์เวิร์ดสำคัญที่ผู้นำองค์กรยุคใหม่ที่ต้องรู้และเร่งปรับตัวเอง
สิ่งจำเป็นอะไรบ้างที่ควรมี เพื่อสร้างทีมให้แข็งแกร่งและขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. การปรับความคิด (Mindset)
2. สร้างการสื่อสารที่ชัดเจน เน้นการมีส่วนร่วม (Engaged Communication)
3. ใส่ใจในการทำความเข้าใจกับทีมงาน (Listening & Caring) เพื่อปรับวิธีการนำและสร้างความเชื่อมั่นให้ทีมและองค์กร
4. สร้างพฤติกรรมที่ดีเป็นแบบอย่าง (Lead by Example) เพื่อปลูกฝังวิถีการทำงานแบบใหม่เพื่อให้ทีมงานและองค์กรพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงและโอกาสที่จะเข้ามาถึง
การ Redefining The New Age Leadership เป็นเรื่องที่ผู้บริหาร ผู้นำองค์กร หัวหน้าทีมทุกระดับควรเรียนรู้และเร่งปรับตัว เพื่อการบริหารงานให้ได้ผล บริหารคนให้ได้ใจ ในโลกการบริหารที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ แถมต้องทำงานไกลกัน
โลกของการทำงานไม่ว่าจะในอนคตหรือปัจจุบัน ผู้นำทั้งหลายควรมีความพร้อมในการบริหารการทำงานและคนในทีมให้เกิดความสมดุลมากที่สุด และที่สำคัญไม่ว่า ณ ตอนนั้นคุณกำลังเจอกับสถานการณ์ที่ลำบากแค่ไหนก็ตาม หากคุณมีไหวพริบที่ดี ก็จะสามารถรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างง่ายดายแน่นอน
ที่มาข้อมูล