ผลกระทบเศรษฐกิจไทย จากโควิด-19
2150 views | 17/12/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


          แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด COVID-19 แต่ก็ทำให้ได้รับความเสียหายเกือบทุกภาคส่วน ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าการระบาดของ โควิด-19 นี้จะรวดเร็ว รุนแรงและขยายตัวในวงกว้างเช่นนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศ ไม่เพียงแต่ประชาชนในระดับรากหญ้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจ ห้างร้านและกิจการขนาดใหญ่ จนบางแห่งถึงขั้นล้มละลายและปิดตัวลงไป ยิ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นเศรษฐกิจในประเทศ กำลังซบเซาอยู่ก่อนแล้วเมื่อเจอพิษโรคระบาดเข้าไป เหมือนเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลงยิ่งกว่าเดิม ยิ่งในช่วงการระบาดระลอกที่ 3 นี้ถือว่าเป็นการระบาดที่ค่อนข้างหนักและรุนแรงมากกว่าการระบาดในระลอกที่ 1 และที่ 2 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ในระดับหลักหมื่นและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงเป็นหลักร้อยต่อวัน แถมการระบาดยังยาวนานกว่าในช่วงแรก เนื่องจากผู้ติดเชื้อหลายคนกระจายตัวออกต่างจังหวัดจนครอบคลุมทั้งประเทศ 




          จริง ๆ แล้วทุกภาคธุรกิจล้วนแต่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ทั้งนั้น แต่กลุ่มธุรกิจที่เราคัดมาเฉพาะส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ประกอบไปด้วย


ธุรกิจท่องเที่ยว

          กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักเป็นอันดับแรกและรุนแรงมากที่สุด เพราะการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องจักรที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน โดยก่อนเกิดวิกฤตพบว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 2.69 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวของปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีรายได้รวมจากกท่องเที่ยวเพียง 760,000 ล้านบาท ลดลงถึง 71.75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากแต่ละประเทศออกมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดประเทศเพื่อป้องกันโรคระบาดที่จะแพร่เข้ามาในประเทศ เมื่อคนท่องเที่ยวไม่มี สถานประกอบการหลายแห่งจึงเลือกที่จะปิดตัวลงชั่วคราวเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะค่าแรงคนงานและพนักงานที่จะต้องจ่ายให้ทุกเดือนโดยที่ไม่มีรายรับเข้ามา สายการบิน สนามบิน ต่างออกมาตรการให้พนักงานสมัครใจลาออกเพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทอยู่รอด ร้านค้า ร้านอาหารตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง ธุรกิจโรงแรม นักร้อง นักดนตรี ที่ทำงานกลางคืนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องตกงานเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงทำให้ได้รับผลกระทบหนักกันอย่างถ้วนหน้า 


ธุรกิจประกันชีวิต

          ธุรกิจประกันชีวิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน เนื่องจากขาดการวิเคราะห์และพิจารณาถึงความรุนแรงเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 นี้ ต่างพากันออกแคมเปญประกันโควิดจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงจากจำนวนผู้ป่วยเพียงหลักสิบต่อวัน พุ่งสูงขึ้นเป็นหลักร้อยหลักพันจนถึงหลักหมื่นคนต่อวัน ส่งผลให้เกิดการเคลมประกันเรื่องค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยจำนวนมาก โดยเฉพาะประกันเจอ-จ่าย-จบ ที่ไม่จบ ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากบริษัทประกันบางแห่งยังไม่ชำระเงินค่าสินไหมให้แก่ลูกค้าทำประกัน COVID-19 ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องเพื่อให้ศาลช่วยพิจารณาและไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับค่าสินไหมนี้เป็นจำนวนมาก 


ภาคขนส่งและบริการ

          ภาคขนส่งและบริการหมายถึงการขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทาง รถตู้โดยสาร แท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ล้วนได้รับผลกระทบไม่แพ้กับภาคธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลสั่งห้ามคนเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดที่รุนแรง ทำให้ขนส่งสาธารณะต้องจำกัดการเดินทางหรือถึงขั้นปิดตัวลงเพื่อปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมา รวมถึงการที่บริษัทเอกชนและข้าราชการหลายแห่งให้ทำงานอยู่ที่บ้านจึงทำให้การเดินทางลดน้อยลงไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่นักเรียน นักศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านเช่นกัน


ธุรกิจก่อสร้าง

          ธุรกิจก่อสร้างเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบเศรษฐกิจ ไม่แพ้กับภาคธุรกิจอื่น ๆ เนื่องมาจากมาตรการของรัฐที่ป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 จึงทำให้จำกัดการรวมกลุ่มคนกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างที่ต้องอาศัยแรงงานและคนจำนวนมาก เมื่อมาอยู่ร่วมกันจึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดออกไปในวงกว้างโดยเฉพาะแคมป์คนงานก่อสร้างที่มีชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากข่าวก่อนหน้านี้ที่มีการปิดไซส์คนงานก่อสร้างหลายแห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ก็ยังมีคนงานบางส่วนเล็ดลอดออกนอกพื้นที่ไปแพร่เชื้อให้กับกลุ่มคนอื่น ๆ เนื่องจากคนงานบางส่วนเป็นคนงานที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย 




พิษเศรษฐกิจทำหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น

           หลังจากที่หลายคนได้รับ ผลกระทบจากโควิด 19 ส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน เมื่อขาดรายได้จากการทำงานประจำจึงทำให้มีแต่รายจ่าย จนทำให้หนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นถึง 95 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์และคาดว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสถัดมา ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการมีหนี้สูงจนส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในอนาคตได้ แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ อย่างเราชนะ คนละครึ่ง การเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ มาตรการการลดค่าไฟ ค่าน้ำ ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือในระยะยาวได้ อีกทั้งเม็ดเงินที่ช่วยเหลือก็มีอย่างจำกัด


สิ่งที่ภาครัฐควรกระทำอย่างเร่งด่วน

  • เร่งการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันยังมีประชาชนชาวไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการเข้ารับฉีดวัคซีนจากทางภาครัฐ เนื่องจากขาดแรงกระตุ้นจากผู้นำชุมชน และจำนวนวัคซีนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจำนวนมาก ภาครัฐควรเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้คนในประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงเมื่อเป็น COVID-19 ได้ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ 
  • เยียวยาภาคธุรกิจนอกจากจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศให้ครบถ้วนและทั่วถึงโดยทั่วกันแล้ว การเยียวยาภาคธุรกิจก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมาภาครัฐให้การช่วยเหลือประชาชนคนใช้แรงงาน แต่สำหรับห้างร้านและบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่เพราะถ้าหากกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนี้ไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ก็จะทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมากส่งผลถึงภาคเศรษฐกิจในระยะยาวได้ 
  • ส่งเสริมทักษะและความสามารถให้แรงงาน เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าหลังจากเกิดโรคระบาดทำให้แรงงานหลายคนจำนวนมากต้องตกงานภาครัฐควรให้การส่งเสริมและเพิ่มทักษะความสามารถของแรงงาน ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยใหม่ เป็นต้น
  • สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย แม้หลังจากการเปิดประเทศระบบเศรษฐกิจอาจยังไม่ฟื้นในทันทีทันใดแต่กลุ่มคนที่จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้นั้นคือคนในประเทศโดยภาครัฐจะต้องออกมาตรการในการกระตุ้นเพื่อชักจูงให้คนเกิดการใช้จ่าย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อและผู้ประกอบการ โดยอาจจะเป็นมาตรการท่องเที่ยวลดหย่อนภาษี การซื้อสินค้าเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีและนโยบายการสนับสนุนแหล่งเงินให้กับผู้ประกอบการและ SMEs ที่ได้รับ ผลกระทบเศรษฐกิจ ในครั้งนี้ 
  • สนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับ Mega Trend ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เชื่อได้ว่าหากรัฐบาลให้การสนับสนุน Mega Trend ที่จะเกิดขึ้นจะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาลได้



          ภายหลังจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ เชื่อได้เลยว่าคนในประเทศและธุรกิจต่าง ๆ จะกลับมาอย่างแข็งแกร่งได้ โดยเฉพาะคนที่ปรับตัวและแก้ไขปัญหาเพื่อเอาตัวรอดในช่วงวิกฤตดังกล่าวได้ โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะและความสามารถที่มากกว่าเดิม หากได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้ เนื่องจากขาดการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ ทักษะและความสามารถ ซึ่งหากแรงงานไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะและความสามารถ ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่นั่นเอง

ที่มาข้อมูล

  • https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/109634
  • https://www.mots.go.th/more_news_new.php?cid=411
  • https://learningcovid.ku.ac.th/course/?c=7&l=2
  • https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/covid19-newnormal-with-sme