รู้จักสัดส่วนทอง Golden ratio ที่นักออกแบบใช้ทำโลโก้
2020 views | 30/03/2023
Copy link to clipboard
Apple W.
Content Creator

Golden Ratio คือ สัดส่วนของสิ่งก่อสร้างทั้งมวลที่ให้ความสวยงามดึงดูดด้วยพลังคณิตศาสตร์ ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการออกแบบแทบจะทุกแขนงทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม การเขียนเพลง วันนี้เราจะมาพูดถึงความสำคัญของสัดส่วน Golden Ratio ว่ามีอะไรบ้าง รวมไปถึงการใช้สัดส่วน Golden Ratio ในการออกแบบกราฟิกสำหรับกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่อยากรู้ซึ้งถึงสัดส่วน Golden Ratio หนึ่งในสิ่งสำคัญของโลกที่ส่งต่อมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ  



ทั้งปิรามิด วิหารพาเธนอน สถาปัตยกรรมสมัยใหม่สวนอีเดน ผลงานจิตรกรรมของเลโอนาร์โด ดาวินชี, ฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอรา และมอนเดรียน หรือโครงสร้างแสง สี เสียง ดนตรีของโมสาร์ท บีโธเฟน ไปจนถึงดอกทานตะวัน ดาราจักรชนิดก้นหอย เปลือกหอยงวงช้าง ร่างกายมนุษย์ และอีกมากมายเกินกว่าจะยกตัวอย่างไหว แม้จะเกิดขึ้นมาจากศิลปินคนละคน เกิดขึ้นคนละยุคสมัย แต่ในความแตกต่างกันของศิลปะ จักรวาลและธรรมชาติกลับมีความเป็น ‘ระเบียบ’ ที่สวยงามแฝงอยู่ในสัดส่วนของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคณิตศาสตร์และรูปทรงต่าง ๆ ในการแสดงออกทางการมองเห็น ‘Golden Ratio’  

  


การค้นพบสัดส่วนทอง Golden Ratio 

ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี คศ.1202 ไม่มีใครรู้ว่าในธรรมชาติมีสัดส่วนทางคณิตศาสตร์สัมพันธ์อยู่ กระทั่งผู้ชายที่ชื่อว่า ‘เลโอนาร์โด พีซาโร ฟีโบนัชชี’ ชาวอิตาลี (Leonardo Pisano Fibonacci) มาทำให้ทุกคนประจักษ์หลังจากที่เขาออกหนังสือที่ชื่อว่า ‘Liber abaci’ ในปี 1202 ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอลักษณะของการรวมเลขกันระหว่างเลข 2 ตัวโดยใช้เงื่อนไขดังที่ Fibonacci กําหนดคือ หาเลขจํานวนที่สามโดยการเอาเลขสองจํานวนก่อนหน้ามาบวกกัน สมมติว่าเรามีเลขจํานวนเต็มสองจํานวน จะเป็นเลขอะไรก็ได้เอามาบวกกัน เช่น 6+11=17, 11+17=28, 17+28= 45 แล้วหาเลขจํานวนต่อ ๆ ไป

 


เราจะได้ลำดับเลขเป็น 6,11,17,28,45,73,118,191,309 ซึ่งนักคณิตศาสตร์เรียกอนุกรมนี้ตามชื่อผู้ที่คิดค้นนั่นก็คือ อนุกรม Fibonacci หรือลำดับฟีโบนัชชี แต่ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือ หากเรานําเลขทั้งสองจํานวนที่อยู่ติดกันมาหารกัน เช่น 309/191 จะได้เท่ากับ 1.6179 หรือเอา 118/73 = 1.6164 ซึ่งมีค่าใกลเคียงกันมาก เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1.618 จึงทำให้เกิดสูตรอัตราส่วนที่สวยงามขึ้นคือ 1:1.618 เกิดจากการเอา A และ B มาวางต่อกันในแนวตั้งฉากเกิดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า A+B (1:1.618) 


อนุกรม Fibonacci ถูกนำมาพูดถึงในแง่มุมทางศิลปะอีกทีก็ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปมีการตื่นตัวทางวิชาการมาก นักคณิตศาสตร์ที่ชื่อว่าลูกา ปาชิโอลิ (Luca Pacioli) เขาเป็นคนที่เชื่อว่า ‘ตัวเลขคือกุญแจสําคัญในจักรวาลนี้ที่จะไขความเป็นจริงและความงาม’ จึงไม่แปลกที่เขาจะศึกษาหนังสือของฟีโบนัชชีมาก่อนเพราะเป็นพวกที่คิดว่าคณิตศาสตร์และศิลปะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้


เมื่อเขาได้เดินทางไปมิลานแล้วพบกับ ‘เลโอนาร์โด ดาวินชี’ ทั้งสองคนก็ได้ร่วมมือกันทำหนังสือที่ชื่อว่า ‘De Divina Proportione’ หรือสัดส่วนจากพระเจ้า (Golden Ratio) ในปี 1509 หนังสือเล่มนี้ก็ได้พูดถึงสัดส่วนทอง และการนำสัดส่วนทองไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุที่ทำให้หนังสือ ‘De Divina Proportione’ และสัดส่วนทองประสบความสำเร็จมากขนาดนี้มาจากภาพประกอบที่ล้ำสมัยด้วยฝีมือของเลโอนาร์โด ดาวินชี


Cr. irenebrination


หลังจากนั้นวงการศิลปะ นักโบราณคดีก็ได้ใช้สัดส่วนทองหรือลำดับฟิโบนัชชีนี้ออกไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาล แล้วพบว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นสัมพันธ์กับสัดส่วนทองอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งปิรามิด กลีบดอกไม้ หรือเมล็ดของดอกทานตะวัน ในวงที่มีเกลียวการหมุนตามเข็มนาฬิกา รวมทั้ง DNA ของมนุษย์ การแตกตัวของเชื้อโรค และความกลมกลืนของโน้ตเพลงก็มีจํานวนที่สอดคล้องกับลําดับเลขฟีโบนัชชีทั้งสิ้น 



การใช้สัดส่วนทอง Golden Ratio กับงานศิลปะ  

ความสัมพันธ์ของกับการนำเลขฟีโบนัชชีมาสร้างเป็นงานศิลปะจะเป็นไปในลักษณะของการใช้เลขฟีโบนัชชีมาหาค่าพื้นที่ภาพเพื่อให้ได้สัดส่วนที่ดีที่สุด ทำให้ภาพ ๆ นั้นมีองค์ประกอบที่มองแล้วไม่ใช่แค่สวยแต่ยังทรงพลังเหมือนมีแรงดึงดูดด้วยตัวมันเอง และถึงแม้หลาย ๆ ภาพจะไม่ได้รับการยืนยันจากเจ้าตัวโดยตรงว่าพวกเขาใช้สัดส่วนทองหรือว่าเลขฟิโบนัชชีในการทำงานศิลปะจริง ๆ ก็ตาม แต่ก็ยากที่จะมีใครกล้าออกมาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ใช้ เพราะความสมบูรณ์ของสัดส่วนฟิโบนัชชีนั่นเอง


 

Cr. knowyourmeme 


ภาพที่หลายคนคาดว่าใช้เลขฟิโบนัชชีที่โด่งดังที่สุดก็คือภาพ Mona Lisa โดยเลโอนาร์โด ดาวินชี ที่ใช้สัดส่วนเกลียวก้นหอยเป็นอัตราส่วนในการหาค่าพื้นที่ ซึ่งแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเลโอนาร์โด ดาวินชีใช้สัดส่วน Golden Ratio จริง ๆ ก็ตาม 


ภาพ Bathers at Asnières  


ศิลปินชาวฝรั่งเศสฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอรา ก็ถูกคาดว่าใช้สัดส่วนทองคำในการทำงานศิลปะเช่นกัน โดยภาพวาดสีน้ำมันอันโด่งดังของเขาที่ชื่อว่า Bathers at Asnières ได้ใช้สัดส่วนสี่เหลี่ยมผืนผ้าทองคำ (Golden Rectangle) เป็นส่วนใหญ่ 



การใช้สัดส่วนทองในงานออกแบบ 

ปัจจุบันมีการทำแพตเทิร์นสัดส่วนทองเพื่อการใช้งานในการออกแบบได้ง่ายมากขึ้น (แน่นอนว่าก็ยังมีคนคำนวณหาพื้นที่ด้วยเงื่อนไข Fibonacci อยู่นะ) แต่สำหรับการออกแบบทั่วไปในรูปแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า นักออกแบบกราฟิกนิยมใช้ Golden Ratio อยู่ทั้งหมด 3 แบบด้วยกันก็คือ สี่เหลี่ยมผืนผ้า (Rectangles) เกลียวก้นหอย (Spiral) และวงแหวน (Circles) 


1. สี่เหลี่ยมผืนผ้า (Golden Rectangle)


สัดส่วนสี่เหลี่ยมผืนผ้านิยมนำมาใช้ในการจัดองค์ประกอบรูปภาพเพื่อดึงดูดสายตาไปยังองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของภาพถ่าย หรือที่เราเรียกว่า Rule of Third เมื่อใช้อัตราส่วนทองสี่เหลี่ยนผืนผ้าแล้วแบ่งรูปภาพออกเป็น 3 ส่วนที่ไม่เท่ากัน จากนั้นใช้เส้นและจุดตัดเพื่อจัดองค์ประกอบภาพ ในอัตราส่วนคือ 1:0.618:1 โดย 1 คือความกว้างของคอลัมน์แนวตั้งที่หนึ่งและที่สาม และความกว้างของคอลัมน์แนวตั้งตรงกลางจะเท่ากับ 0.618 ให้เราวางจุดสำคัญไว้ในตำแหน่งตรงกลางเพื่อความสวยงามของการออกแบบ


2. เกลียวก้นหอย (The Golden Ratio Spiral)


สัดส่วนทองเกลียวก้นหอยนิยมใช้ออกแบบเว็บไซต์ หน้าปกหนังสือและนิตยสาร เกลียวทองสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดตำแหน่งของเนื้อหา (content) ให้มีมิติมากขึ้น เพราะโดยธรรมชาติแล้วสายตาของเราจะถูกดึงไปที่ตรงกลางของเกลียว ซึ่งเป็นจุดที่ดวงตาจะมองหารายละเอียดต่าง ๆ ดังนั้นจุดไหนอยากเน้นให้คนเห็นให้ใส่ไปที่กึ่งกลางของเกลียวและวางพื้นที่ที่เป็นจุดสนใจภายในเกลียว เช่น ปุ่ม CTA เป็นต้น  


3. สัดส่วนวงแหวน (The Golden Ratio Circles)


สัดส่วนวงแหวนนิยมใช้ในการออกแบบโลโก้เป็นส่วนใหญ่ เพราะการใช้สัดส่วนทองวงแหวนไม่เพียงแต่จะสร้างความกลมกลืนและได้สัดส่วนที่เท่า ๆ กันเท่านั้น แต่ยังสร้างความสม่ำเสมอ สมมาตร สามัคคีทั่วทั้งงานออกแบบนั้น ๆ ด้วย เหมือนอย่างโลโก้ของสอง 2 บริษัทชื่อดังอย่าง Pepsi และ Twitter ก็ใช้สัดส่วนวงแหวนในการออกแบบโลโก้เช่นกันค่ะ 



สุดท้ายแล้วการออกแบบก็ยังไม่ใช่คณิตศาสตร์เสียทีเดียว ยังอาศัยอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากนั่นก็คือ จินตนาการ แต่สำหรับข้อดีของการที่เราใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ของ Golden Ratio ก็เพื่อการออกแบบให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะการสร้างความเป็นระเบียบให้กับการออกแบบของเรา หากใครสนใจเรียนให้รู้ลึกมากขึ้นเกี่ยวกับสัดส่วนทอง Golden Ratio ขอแนะนำคอร์สศิลปะและการออกแบบที่ดีที่สุดจาก VCOURSE ‘Illustrator Golden Ratio Logo’ เรียนรู้วิธีออกแบบโลโก้ด้วยเทคนิคที่ชื่อว่า “Golden Ratio” เทคนิคที่นักออกแบบระดับโลกใช้สร้างโลโก้ในตำนาน สนใจสมัครเรียนในราคาพิเศษ คลิกที่นี่



ที่มาข้อมูล

  • https://www.canva.com/learn/what-is-the-golden-ratio/
  • https://www.adobe.com/th_th/creativecloud/design/discover/golden-ratio.html
  • http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/Vis_Art/Nisakorn_P.pdf