ชวนเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์
12330 views | 04/01/2022
Copy link to clipboard
Arrietty .
Content Creator


  วันนี้ชวนน้อง ๆ มาย้อนรอยเปิด ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สมัยนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี จนบ้านเมืองสงบเข้าสู่ภาวะปกติจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี พระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” โดยเห็นว่าควรย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีไปอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน หลังจากนั้นมีเหตุการณ์สำคัญสมัยรัตนโกสินทร์มากมาย ทั้งการเลิกไพร่เลิกทาส เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยในปัจจุบัน 

ทำไมต้องย้ายเมืองหลวง


   ต้องเล่าย้อนไปสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชเลือกกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงเพราะหลังกู้เอกราชแล้วกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายทรุดโทรมมาก มีพื้นที่กว้างขวางดูแลรักษายาก ห่างจากปากแม่น้ำทำให้ติดต่อค้าขายกับต่างชาติไม่สะดวก จึงย้ายมาสร้างเมืองหลวงและพระราชวังใหม่ทางฝั่งธนบุรีเพราะทำเลดีกว่า เมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ปากแม่น้ำจะเดินทางหรือค้าขายก็สะดวก ถ้าข้าศึกยกทัพมามากก็ย้ายกำลังไปตั้งหลักที่จันทบุรีหรือออกทางอ่าวลงไปทางใต้ได้ง่าย


  มาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ต้องย้ายเมืองหลวงกันอีกครั้ง ถามว่าทำไมต้องย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้ ถ้าจะงัดความรู้ตำราเรียนมาเล่าก็ว่ากันตามเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ว่ากันว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองอกแตก หมายถึงเมืองที่มีแม่น้ำผ่ากลางแบบเดียวกับพิษณุโลก เวลารบจะเสียเปรียบข้าศึกที่มาทางเรือเข้าถึงกลางเมืองได้ง่าย ดูแลปกป้องรักษาเมืองลำบาก แต่การย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีไปฝั่งพระนคร กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นเมืองอกแตกอยู่ดี ถ้าเอาความจริงมาพูดก็อธิบายได้ว่าการสถาปนาราชวงศ์จักรี สร้าง อาณาจักรรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองหลวงใหม่คือการสร้างบารมีใหม่เพื่อป้องกันความวุ่นวายจากเพราะกลุ่มอำนาจเก่า ขุนนางเก่า ๆ และบารมีของพระเจ้าตากสินที่ยังคงมีอยู่ อาจจะลุกฮือขึ้นมาวันไหนก็ได้ หลังก่อสร้างพระราชวังใหม่ก็เลือกคนที่ไว้วางใจได้ตามเสด็จไป ขุนนางอำนาจเก่าให้อยู่ฝั่งธนฯ ตามเดิมเสริมความปลอดภัยให้ราชวงศ์ใหม่ยิ่งขึ้น


   เหตุผลทางภูมิศาสตร์อีกข้อหนึ่งคือ กรุงธนบุรีเป็นพื้นที่ท้องคุ้งฝั่งที่น้ำเซาะตลิ่งทรุดพังไปเรื่อย ๆ แต่ฝั่งพระนครที่อยู่ตรงข้าม ดินทับถมตลิ่งงอกออกมาทุกปี นอกจากนี้วังเดิมฝั่งธนบุรีก็ไม่ได้แข็งแรง ถูกจู่โจมล้อมวังได้ง่ายไม่ปลอดภัยสำหรับราชวงศ์ใหม่ ก็ต้องไปหาที่ใหม่สร้างพระราชวังใหม่


   อีกสาเหตุคือพระราชวังเดิมคับแคบคิดจะขยายออกไปก็ทำไม่ได้เพราะมีวัดขนาบข้าง ด้านหนึ่งเป็นวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้งหรือวัดมะกอก) อีกด้านเป็นวัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) จะรื้อป้องกันจุดอ่อนก็ต้องรื้อวัดซึ่งไม่มีใครทำกัน ย้ายไปสร้างใหม่เลยดีกว่า ที่ดินสร้างวังใหม่อยู่ริมแม่น้ำเป็นย่านคนจีนเดิม ก็ย้ายคนจีนไปอยู่หาที่อยู่ใหม่ย้ายสำเพ็งแทน พระราชวังใหม่ออกแบบก่อสร้างได้ใหญ่โต กว้างขวางกว่ามาก มีวัดพระแก้วมรกต (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) อยู่ในพระบรมมหาราชวัง มีสนามหลวง เสาชิงช้า ภูเขาทอง ฯลฯ ซึ่งทยอยสร้างต่อเนื่องในรัชกาลต่อ ๆ มา ถ้าเป็นฝั่งธนบุรีตามเดิมคงทำไม่ได้



  ซึ่งพระบรมมหาราชวังใหม่สมัย กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีตั้งแต่รัชสมัยที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 5 ต่อมาพระมหากษัตริย์ย้ายไปประทับที่พระราชวังดุสิต ด้านทิศใต้จรดแนวคลองผดุงกรุงเกษมและทิศเหนือจรดคลองสามเสน


  รู้ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์เบื้องต้นกันแล้ว วันนี้ชวนน้อง ๆ มาดูแนวข้อสอบ ทำลองมาดูกันนะคะว่ามีข้อสอบเกี่ยวกับการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ใดบ้างที่ออกบ่อย 7 แนวข้อสอบออกบ่อย เรื่องการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ 


1.เรื่อง “กฎหมายตราสามดวง”

การเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ระหว่างปี พ.ศ. 2325-2394) เป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาด ในสมัยรัชกาล 1 โปรดให้ชำระกฎหมายใหม่ที่มีรูปแบบคล้ายสมัยอยุธยาตอนปลาย เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ในปี พ.ศ. 2347 นับเป็นกฎหมายฉบับแรกของ อาณาจักรรัตนโกสินทร์ โดยตราสามดวงเป็นตราประจำตำแหน่ง สมุหนายก สมุหพระกลาโหลและโกษาธิบดี โดยทุกฉบับจะประทับตรา คชสีห์ ราชสีห์ บัวเเก้ว ใช้เป็นกฎหมายเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 (ระยะเวลา 103 ปี) จึงเลิกใช้กฎหมายตราสามดวงแล้วปฏิรูประบบกฎหมายตามแบบอย่างยุโรป


2.การปกครองแบบ "จตุสดมภ์” 

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแบ่งออกเป็น “การปกครองราชธานี” มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหพระกลาโหมและสมุหนายก และเสนาบดี 4 ตำแหน่งเรียกว่า “จตุสดมภ์” ส่วนการปกครองหัวเมือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือหัวเมืองชั้นในอยู่รอบราชธานีเป็นหัวเมืองชั้นจัตวาและหัวเมืองชั้นนอกแบ่งออกเป็นเมืองชั้นเอก โท และตรี สำหรับการปกครองประเทศราชปล่อยให้เจ้าเมืองของหัวเมืองต่างชาติปกครองตนเองและส่งเครื่องบรรณาการมาถวาย รวมถึงส่งกำลังพลช่วยรบในการศึกสงคราม

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง ยกเลิกจตุสดมภ์เปลี่ยนมาจัดตั้งกระทรวง ทบวง และกรมต่าง ๆ ตามแบบอย่างโลกตะวันตก โดยจัดการปกครองใหม่เป็นรูปแบบเทศาภิบาลแบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีการรวมอำนาจหัวเมืองขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย



3.เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ สมัยรัตนโกสินทร์

   ที่จริงประเทศไทยค้าขายกับต่างชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ช่วงแรกติดต่อกับเอเชียด้วยกันก่อน โปรตุเกสเป็นตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาค้าขายในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ตามด้วยสเปน ฮอลันดา อังกฤษและฝรั่งเศส สิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชการค้ากับต่างประเทศลดน้อยลงไป 

  มาถึง กรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ประเทศคู่ค้าสำคัญคือจีน การค้าสำเภาหลวงไปเมืองจีนเป็นรายได้หลักของแผ่นดิน มีการผูกขาดซื้อขายให้เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูง สินค้าหายากราคาแพงต้องซื้อขายผ่านพระคลังสินค้าเท่านั้น ส่วนพ่อค้าจีนเอกชนที่เข้ามาเป็นนายหน้าก็ค้าขายร่ำรวยไปตามกัน สำเภาส่วนใหญ่มาต่อเรือกันในเมืองไทยนี่เอง มีการสร้างเรือสำเภาจำลองไว้เป็นหลักฐานในวัดทองนพคุณฝั่งธนบุรีและวัดยานนาวาฝั่งพระนครด้วย ช่วงนี้คนจีนอาศัยเรือสำเภาขากลับเข้าไทยอพยพมาอยู่ในเมืองไทยจำนวนมาก ส่วนคู่ค้าชาติตะวันตกมีพวกโปรตุเกส อังกฤษ และอเมริกาเข้ามาก่อน

   สมัยรัชกาลที่ 3 มีการทำสนธิสัญญาการค้ากับชาติตะวันตกฉบับแรกคือ “สนธิสัญญาเบอร์นี” ลงนามระหว่างไทยกับ “เฮนรี เบอร์นี” ทูตอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2369 ทำให้ต้องยกเลิกระบบการค้าผ่านพระคลังสินค้า ประเทศไทยเสียรายได้จากการผูกขาดไปแล้ว จึงรื้อระบบเก็บภาษีสมัยอยุธยาตอนปลายมาใช้ เรียกว่า “ระบบเจ้าภาษีนายอากร” กลับวุ่นวายกันไปใหญ่ เพราะเปิดการประมูลสัมปทานให้เจ้าภาษีนายอากรไปเก็บภาษีแทน ซึ่งเจ้าภาษีอากรก็คือขุนนาง เจ้านาย และชนชั้นสูง เป็นพวกมีอำนาจและอิทธิพลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เงินผ่านมือแต่ไม่ถึงพระคลัง ฉ้อโกงตั้งแต่คนเก็บภาษีไปจนถึงคนดูแลพระคลัง เกิดปัญหาเงินไม่พอเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอากรไม่ต้องผ่านมือขุนนางอีกแล้ว แต่ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นมาดูแลเงินภาษีโดยตรง สมัยเดียวกับยังมีการปฏิรูประบบสตางค์และบาทออกมาใช้แทนเงินเฟื้องและเงินตราแบบเดิมเพื่อให้การค้าขายทันสมัยขึ้น




4.รัชกาลที่ 5 ส่งโอรสเรียนนอกทำไม

สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์รับอิทธิพลแนวคิดจากโลกตะวันตก หวังจะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ไม่ให้ชาติตะวันตกดูถูกรังแออ้างว่าบ้านเมืองป่าเถื่อนจะเข้ามาทำให้เจริญ ที่จริงก็คิดจะล่าอาณานิคมไทยเป็นเมืองขึ้นนั่นเอง ไทยเราก็เลยส่งคนไปต่างประเทศ ดูว่าบ้านเมืองเขามีอะไรก็รับเข้ามา ทั้งด้าน การเมือง วัฒนธรรมสถาปัตยกรรม เพื่อเอามาปรับใช้ให้เข้ากับเมืองไทย สมัยรัชกาลที่ 4 ส่งข้าราชการไปศึกษาและดูงานในต่างประเทศ เช่น สิงค์โปร์และอังกฤษ นำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาบ้านเมือง ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวังและให้สตรีชาวอังกฤษชื่อ “แอนนา เลียวโนเวนส์” มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษพระราชโอรสและธิดา

  จนถึงรัชกาลที่ 5 เริ่มมีอำนาจบริหารบ้านเมืองเองในปี พ.ศ.2416 เสด็จประพาสยุโรปหลายครั้ง ส่งโอรสไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่ พ.ศ. 2428 รวม 19 พระองค์ ส่วนใหญ่กลับมารับราชการพัฒนาประเทศ มีทุนเล่าเรียนหลวงส่งนักเรียนไทยไปนอกจำนวน 206 คน เรียนต่อทางภาษา คณิตศาสตร์ การทูต การทหาร และวิชาตามที่ถนัด ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี และเดนมาร์ก รัชกาลต่อ ๆ มายังมีทุนเล่าเรียนหลวงส่งไปเรียนนอกต่อไป

   รัชกาลที่ 5 มีแนวคิดให้การศึกษายกระดับคนให้พ้นจากการเป็นทาส ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ ”วัดมหรรณพาราม” ต่อมารัชกาลที่ 6 โปรดให้ตรา “พระราชบัญญัติประถมศึกษา” พ.ศ. 2464 โปรดให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง มีการศึกษาภาคบังคับให้คนได้เรียนหนังสือทั่วถึงกัน และยกฐานะโรงเรียนมหาดเล็กที่ได้ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 5 เป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย


5.ทำไมเลิกไพร่และเลิกทาส

การเลิกไพร่และเลิกทาสเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้องยอมรับว่าการเลิกทาสเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองของไทย รัชกาลที่ 5 เห็นภัยจากการคุกคามของชาติตะวันที่ล่าอาณานิคมล้อมกรอบประเทศไทยไว้แล้ว คงไม่รอดพ้นแน่ถ้าไม่ปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้า ระบบไพร่และทาสเป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกมองว่าล้าหลังป่าเถื่อน จึงริเริ่มให้อิสระกับลูกทาสโดยประกาศพระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรลูกทาสลูกไทยเพื่อลดค่าตัวทาสตั้งแต่ปี พ.ศ.2417 เป็นต้นมา จนกระทั่งประกาศ “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” เมื่อปี พ.ศ. 2448 เพื่อปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ จึงถือเอาวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็น “วันเลิกทาส”



6.ทำไมเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 การเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก 

  -สาเหตุแรกคือได้รับแนวคิดมาจากตะวันตก 

  -สาเหตุที่สองคือเศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่

  -พระมหากษัตริย์อยากให้เกิดการกระจายอำนาจ

  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พระมหากษัตริย์อยากให้เกิดการกระจายอำนาจและมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ริเริ่มการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแล้วแต่ขั้นตอนเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันใจชนชั้นการศึกษาที่ตื่นตัวอยากให้ไทยเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมกับการปกครองระบบรัฐสภาตามแบบตะวันตก ในเวลานั้นเศรษฐกิจโลกตกต่ำมากทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดโทรม รัฐบาลพยายามลดทอนรายจ่ายด้วยการปลดข้าราชการจำนวน ประกาศเพิ่มภาษี คนตกงาน เป็นยุคข้าวยากหมายแพงจริง ๆ

   ช่วงเวลานั้นกลุ่มนายทหารหนุ่ม นำทีมโดยหมอเหล็ง ศรีจันทร์ ก่อเหตุ “กบฏ ร.ศ. 130” หรือเรียกว่ากบฏหมอเหล็ง เพื่อล้มล้างการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงปี พ.ศ. 2455 แม้จะไม่สำเร็จแต่ก็ถือเป็นการจุดประกายให้คณะราษฎรปฏิวัตินำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเป็นแบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”



7.รู้จักศิลปวัฒนธรรมทรงคุณค่าในยุครัตนโกสินทร์

   ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปะและวัฒนธรรมไทยเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก พระมหากษัตริย์โปรดให้ทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นสมัยของการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมครั้งใหญ่ พระองค์โปรดให้รวบรวมตำราจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่หลงเหลือจากการถูกพม่าเผา มีการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดมหาธาตุ เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เป็นยุคทองของศิลปะ วิจิตรศิลป์และวรรณคดี พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้เป็นอัครศิลปิน มีพระราชนิพนธ์เรื่อง “อิเหนา” และ “รามเกียรติ์” และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ศิลปินและกวี กวีเอกที่โด่งดังคือพระศรีสุนทรโวหาร หรือที่เรียกกันว่าสุนทรภู่ มีการฟื้นฟูประเพณีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีฉัตรมงคล 


   ในสมัยรัชกาลที่ 6 นับเป็นยุคทองของงานประพันธ์ โดยเฉพาะบทละครพระราชนิพนธ์ เช่น มัทนะพาธา , ศกุนตลา ,สาวิตรี , พระร่วง , ท้าวแสนปม และหนามยอกหนามบ่ง ประเภทประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น ประเทศไอยคุปต์ , เที่ยวเมืองพระร่วง , สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ บทร้อยกรอง เช่น พระนลคำหลวง , ธรรมาธรรมะสงคราม , ลิลิตพายัพ รวมถึงปาฐกถาและบทความทั่วไป มีการแปลวรรณกรรมตะวันตกเป็นภาษาไทยหลายเรื่อง เช่น เวนิสวาณิช พระองค์ทรงริเริ่มการแสดงละครพูดไทยแบบฝรั่งเป็นครั้งแรกด้วย


   ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ประดิษฐ์ธงชาติใหม่เรียกว่า ธงไตรรงค์ รูปแบบธง 3 สี ตามอย่างประเทศอื่น ๆ ซึ่งใช้มาจนถึงทุกวันนี้


ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์มีความเป็นมายาวนาน เราจะเห็นถึงวิวัฒนาการหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองหลายยุคสมัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอดีตที่เราควรเรียนรู้ เพื่อเดินหน้าต่อในปัจจุบันให้ดีกว่าเดิมนั่นเอง

ที่มาข้อมูล

  • -https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34766
  • -https://www.baanjomyut.com/library_2/the_early_rattanakosin_period/02.html
  • -http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AroundTheWorld/pol/35.htm
  • -https://sites.google.com/a/nonedu2.go.th/social-study-by-t-montha/prawatisastr-p-6/2-lad-leaa-keaa-ratnkosinthr/ratnkosinthr-yukh-ptirup-prathes-r-4-r-6