HOW TO ตั้งชื่อ 'วิดีโอ' เพิ่มยอดวิว เปลี่ยนคนดูให้เป็นผู้ติดตาม
4489 views | 05/07/2022
Copy link to clipboard
Apple W.
Content Creator

ลงวิดีโอใหม่ ๆ บน YouTube, IG Reels หรือวิดีโอสั้นใน TikTok แต่ละครั้งก็อยากให้คนหาเราเจอ กดเข้ามาดูวิดีโอของเราเยอะ ๆ รักเราและสุดท้ายก็กดปุ่มติดตามเรา นั่นอาจเป็นความฝันของคนทำวิดีโอเลยก็ว่าได้ แต่การทำวิดีโอบางครั้งก็เหมือนการใช้อวนตาถี่จับปลา มีเครื่องมือก็จริงแต่ก็คาดหวังอะไรไม่ได้เลยว่าวิดีโอจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ หากใครยังไม่ท้อและพอมีแรงอยู่ ไปเรียนรู้วิธีง่าย ๆ ที่จะเพิ่มยอดวิวให้วิดีโอของเราด้วยการตั้งชื่อ Title กันค่ะ 



เมื่อพูดถึงการทำวิดีโอ คอนเทนต์ที่กำลังมาแรงที่สุดในปัจจุบัน หนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่นักการตลาดเลือกใช้โปรโมทสินค้าและบริการมากที่สุด การจะทำให้คนคลิกเข้ามาดูคลิปวิดีโอประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘ชื่อวิดีโอ’ หากเรามีชื่อที่ดี มันจะดึงดูดความสนใจของผู้ชม และเราก็จะได้ยอดวิวเป็นจำนวนมาก 


ในทางกลับกัน หากเรามีชื่อที่ไม่ดีหรือดีปานกลาง วิดีโอของเราก็อาจจะไม่ได้รับการดูเลย เพราะมีวิดีโอที่น่าสนใจมากกว่านั้น ดังนั้นชื่อจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบแรก ๆ ที่จะดึงดูดความสนใจให้กับวิดีโอ และการตั้งชื่อที่ดีใช้แค่ความคิดสร้างสรรค์ก็ยังไม่พอนะคะ ต้องมีสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ‘SEO’ หรือว่า Keywords ประกอบอยู่ในชื่อด้วย หากเราปรับใช้ไปเรื่อย ๆ ช่องของเราก็จะมียอดคนดู (Views) และระยะเวลาการดู (Watch Times) เพิ่มขึ้นได้ 



เช็ก Google Trends & Google Search หาคีย์เวิร์ดให้ชื่อวิดีโอ

Cr. Google Adsense 


คำหลักหรือว่า Keywords เป็นสิ่งที่ต้องมีในชื่อวิดีโอทุกครั้ง จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ต้องหาคีย์เวิร์ดของเรื่องที่เราจะทำมาใส่ให้ได้ ซึ่งคีย์เวิร์ดที่ดีจะต้องมี Search Volume เพียงพอ สม่ำเสมอ และแข่งขันได้ โดยช่องทางการหาคีย์เวิร์ดมีอยู่ 3 ช่องทางด้วยกันก็คือ Google Trends, Google Search และ Google Ads ซึ่ง Google Ads จะเป็นเครื่องมือที่ไม่ฟรีแต่ดู Search Volume ได้เกือบทุกอย่าง 


Cr. Google Trends 


ส่วน Google Trends ดูได้เพียงแค่ความนิยมของคีย์เวิร์ดว่าสูงหรือต่ำ หา Insight ตามช่วงเวลาและพื้นที่ ส่วน Google Search เป็นช่องทางภายนอก YouTube ที่คนจะเสิร์ชเจอวิดีโอของเราจากหน้าแรกของ Google เพราะกูเกิลพยายามผลักดันให้คนเสิร์ชเจอวิดีโอมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางนี้ก็จะมีประโยชน์ต่างกันออกไป สามารถใช้ได้ตามงบที่มี และความสะดวกเลยค่ะ 



ใช้ YouTube Search หาคำที่เกี่ยวข้องหรือ Seed Keywords 

Cr. YouTube 


วิธีการก็คือให้เราเข้าไปในเว็บไซต์ YouTube แล้วเสิร์ชคำหลัก (Keywords) ในช่องเสิร์ชยูทูบที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอที่เราจะทำ เช่น เราจะทำวิดีโอเกี่ยวกับการตัดต่อวิดีโอ คำหลักของเราคือคำว่า ‘ตัดต่อวิดีโอ’ ก็ให้เราเอาคำว่าตัดต่อวิดีโอไปเสิร์ชในช่องเสิร์ชของยูทูบ เพื่อที่จะดูคำอื่น ๆ ที่ YouTube Suggest ขึ้นมา และคำที่ยูทูบแนะนำขึ้นมาคือสิ่งที่เราเรียกว่า Seed Keywords หรือคำที่เกี่ยวข้องกับคำหลัก เป็นคำกว้าง ๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจง แต่ก็เป็นส่วนประกอบที่จะทำให้คนเสิร์ชหาวิดีโอของเราเจอได้ง่ายขึ้น 


Cr. Google 


ส่วนช่องทางหา Seed Keywords อื่นที่ไม่เสียตังค์สักบาทก็คือ หัวข้อที่ Google Suggest มาด้านล่างสุดบนหน้ากูเกิลนั่นเอง โดยเราจะเห็นได้ว่ามี Seed Keywords ร่วมอยู่ด้วย เราสามารถเอาคำที่เกี่ยวข้องนี้ไปใส่ในชื่อวิดีโอของเราเพื่อให้คนหาวิดีโอเจอได้ง่ายขึ้นจากหน้า Google นั่นเอง 



ใช้คำที่ติดเทรนด์ ตื่นเต้น กระตุ้นให้อยากรู้ 

Cr. YouTube


แน่นอนว่าคำฮิต ๆ ที่คนทั่วโลกมักจะนำไปตั้งชื่อวิดีโอก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วิดีโอถูกเสิร์ชเจอง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับวิดีโอ ทำให้ชื่อวิดีโอของเราโดดเด่นกว่าคู่แข่งที่ทำวิดีโอในเรื่องเดียวกัน โดยคำที่ฮิต ๆ เด่น ๆ เพิ่มความน่าสนใจให้วิดีโอ ได้แก่ การเน้นผลลัพธ์, เน้นความเข้าใจง่าย, เล่นกับเวลา, ตัวเลข หรือความใหม่ล่าสุด และอื่น ๆ ดังต่อไปนี้


  • How To การใส่คำว่าฮาวทู เข้าไปในชื่อจะเป็นการการันตีได้ว่าคอนเทนต์ของเราจะแก้ปัญหาให้กับคนดู และคนดูส่วนใหญ่ก็มักจะเสิร์ชหาวิธี หาฮาวทูทำเรื่องต่าง ๆ มากกว่าคอนเทนต์อื่น 


  • Without คือคำจำพวก ‘แบบไม่’ ‘ไม่ต้อง’ ‘ถ้าไม่’ ให้ดูขัดแย้ง น่าอ่าน กระตุ้นความอยากรู้ เช่น ลดน้ำหนักแบบไม่ต้องออกกำลังกาย, 10 ท่าปั้นหุ่นดีไม่ต้องกระโดด, อย่าเพิ่งซื้อบ้านถ้าไม่รู้สิ่งนี้, ตัดต่อวิดีโอให้ปังไม่ต้องจ้างโปรดักส์ชั่นเฮ้าส์ เป็นต้น


  • With คือคำจำพวก ‘ด้วย’ ‘กับ’ เป็นการชูผลลัพธ์ที่ดีแม้ว่าจะทำน้อย กระตุ้นให้คนดูสงสัย อยากหาคำตอบได้ เช่น 5 วิธีปั้นเงินล้านแรกด้วยเงิน 1,000 บาท, ทำวิดีโอด้วยแอปง่าย ๆ เป็นต้น 


  • ใส่คำเรียกของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ‘มือใหม่’ ‘พนักงานออฟฟิศ’ ‘พ่อค้า’ ‘แม่ค้า’ เป็นต้น โดยเราต้องดูเนื้อหาของเราด้วยว่าเราทำเนื้อหามาเพื่อใคร ก็ Callout หาคนกลุ่มนั้นบนชื่อวิดีโอไปเลย 



ตั้งชื่อวิดีโอไม่เกิน 60 ตัวอักษร

Cr. TikTok


การตั้งชื่อให้พอดี ไม่ล้นกรอบของเว็บไซต์ที่เขากำหนดมาก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะทำให้คนดูคลิปเข้ามาดูวิดีโอของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น YouTube เขาจะอนุญาตให้เราตั้งชื่อ Title ได้มากถึง 100 ตัวอักษร แต่ถ้าเราตั้งชื่อวิดีโอยาวเกินไป หรือไม่สามารถเข้าใจได้ใน 60 ตัวอักษรแรกก็จะทำให้คนดูไม่คลิกวิดีโอของเราเป็นวิดีโอถัดไปที่จะดูก็ได้ ส่วนนี้จะเห็นผลมาก ๆ ตอนที่ YouTube แนะนำวิดีโอของเราเป็นคลิปถัดไป ดังนั้นควรตั้งชื่อวิดีโอให้ไม่เกิน 60 ตัวอักษร หรือลองนับก็ได้ค่ะว่าเเต่ละแพลตฟอร์มควรใส่กี่ตัวอักษรถึงจะพอดีไม่ล้นเฟรมเมื่อต้องเล่นเป็นวิดีโอถัดไป เพราะอย่าง TikTok ก็ตั้งชื่อวิดีโอสั้นมาก ๆ ไม่เกิน 20 ตัวอักษร 


ส่วนใครที่อยากรู้เทคนิคพิเศษเกี่ยวกับการตัดต่อวิดีโอเพิ่มเติมสามารถเรียนรู้ได้จากคอร์ส ‘ตัดต่อวิดีโอด้วยมือถือ’ คอร์สที่จะสอนตั้งแต่เริ่มต้นจนตัดต่อและสร้างผลงานได้จริงแบบมืออาชีพ เรียนรู้แบบลงมือทำจริง แม้ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้ สนใจเรียน คลิกที่นี่



ที่มาข้อมูล

  • https://videoresolve.com/how-to-title-youtube-videos-to-get-more-views/
  • https://www.tubics.com/blog/youtube-video-titles
  • https://contentshifu.com/blog/youtube-seo