ทำวิดีโอ YouTube Vlog TikTok อย่างไรให้ไม่ผิดกฎหมาย PDPA
3203 views | 07/07/2022
Copy link to clipboard
Apple W.
Content Creator

อะไรคือผลกระทบที่ Creator ต้องระวังในการทำคอนเทนต์ และสำหรับคนทั่วไปที่เสพ Content ต้องเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA หรือ Personal Data Protection Act กฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ออกไปทำคอนเทนต์ ถ่ายวิดิโอรีวิวร้านอาหารแล้วบังเอิญถ่ายติดคนอื่น ? แบบนี้เราผิดไหม เขาฟ้องเราได้ไหม แล้วถ้าเราเป็นครีเอเตอร์ที่สร้างรายได้จากยอดวิววิดีโอต้องทำอย่างไรถึงจะเซฟที่สุด  



กฎหมาย PDPA คืออะไร ? 

PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต โดยกฎหมาย PDPA Thailand (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และปัจจุบันได้ถูกเลื่อนให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 


ข้อมูลส่วนบุคคลที่ว่านี้มีอะไรบ้าง ? มันก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แต่จะไม่นับรวมข้อมูลของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้แก่


  • ชื่อ-นามสกุล หรือชื่อเล่น 
  • เลขประจำตัวประชาชน, เลขหนังสือเดินทาง, เลขบัตรประกันสังคม, เลขใบอนุญาตขับขี่, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, เลขบัญชีธนาคาร, เลขบัตรเครดิต 
  • ที่อยู่, อีเมล, เลขโทรศัพท์ 
  • ข้อมูลอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เช่น IP address, MAC address, Cookie ID 
  • ข้อมูลทางชีวมิติ (Biometric) เช่น รูปภาพใบหน้า, ลายนิ้วมือ, ฟิล์มเอกซเรย์, ข้อมูลสแกนม่านตา, ข้อมูลอัตลักษณ์เสียง, ข้อมูลพันธุกรรม 
  • ข้อมูลระบุทรัพย์สินของบุคคล เช่น ทะเบียนรถยนต์, โฉนดที่ดิน
  • ข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้างต้นได้ เช่น วันเกิดและสถานที่เกิด, เชื้อชาติ,สัญชาติ, น้ำหนัก, ส่วนสูง, ข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ (location), ข้อมูลการแพทย์, ข้อมูลการศึกษา, ข้อมูลทางการเงิน, ข้อมูลการจ้างงาน 
  • ข้อมูลหมายเลขอ้างอิงที่เก็บไว้ในไมโครฟิล์ม แม้ไม่สามารถระบุไปถึงตัวบุคคลได้ แต่หากใช้ร่วมกับระบบดัชนีข้อมูลอีกระบบหนึ่งก็จะสามารถระบุไปถึงตัวบุคคลได้ 
  • ข้อมูลการประเมินผลการทำงานหรือความเห็นของนายจ้างต่อการทำงานของลูกจ้าง
  • ข้อมูลบันทึกต่าง ๆ ที่ใช้ติดตามตรวจสอบกิจกรรมต่าง ๆ ของบุคคล เช่น Log File 
  • ข้อมูลที่สามารถใช้ในการค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลอื่นในอินเทอร์เน็ต


หากข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้โดยที่เราไม่ได้ยินยอม เขาไม่ได้ขออนุญาตเราก่อนนำไปเผยแพร่ หรือถ้าโดนละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมาย PDPA แล้ว เราสามารถทำการฟ้องศาลแพ่ง แจ้งตำรวจ หรือร้องเรียนผ่านคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้ 


  • เรียกร้องค่าเสียหาย : หากต้องการเรียกร้องค่าเสียหายก็ต้องไปดำเนินการผ่านศาลแพ่ง


  • คดีอาญา : การดำเนินคดีทางอาญาก็สามารถดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้


  • ร้องเรียนตามขั้นตอน : ส่วนที่สามคือใช้กลไกการร้องเรียนผ่านคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล



กฎหมาย PDPA ที่เหล่าครีเอเตอร์ต้องรู้ 


1. การถ่ายคลิปติดคนอื่นแบบไหน ไม่ผิด PDPA 

อันนี้เบสิกเลยคือ เราดูที่วัตถุประสงค์เป็นหลัก เช่น สมมติว่าถ่ายคลิป แล้วไปถ่ายติดคนข้างหลังโดยบังเอิญจะด้วยมุมกล้องหรืออะไรก็ตามแต่ แล้วเราเอามาลงในโซเชียลส่วนตัวของเราเฉย ๆ ไม่ได้แสวงหารายได้ โพสต์ขิงข่าทั่วไปแบบนี้ไม่ผิด PDPA ลงได้ แต่ถ้าเกิดว่าคนข้างหลังเขารู้สึกว่าเขาเสียหาย เขาก็มีสิทธิ์ที่จะร้องมาที่เราเพื่อให้ลบได้ ถ้าเขาบอกเหตุผลถึงสาเหตุของความเสียหายได้ว่าเสียหายอย่างไร แต่ถ้าเขาไม่สามารถอธิบายความเสียหายได้นั้น ก็ไม่ถึอว่าผู้โพสต์มีความผิด (ในกรณีที่เขาอยากฟ้องเรานะคะ) 



2. ทำ YouTube, Vlog แล้วถ่ายติดคนอื่นแบบไหนจะ ผิด PDPA   

YouTuber หรือ Influencer จัดว่าเป็นสื่อสมัครเล่นค่ะ ซึ่งไม่ใช่สื่อมวลชนอาชีพ จะไม่ได้รับการยกเว้น กรณีที่เราได้รับค่าจ้างให้ไปทำคอนเทนต์รีวิว ถ่ายคลิปวิดีโอทำคอนเทนต์ เพื่อแสวงหากำไรจากยอดวิว แบบนี้ถ้าถ่ายติดคนอื่นคือเสี่ยง ทางออกก็คือเบลอภาพบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป ให้มันเหลือแค่เราหรือทีมงานเราเท่านั้น 


ยกตัวอย่างเมื่อปี 2562 มี YouTuber คนหนึ่งทำ Vlog กินหมูกระทะ และถ่ายติดคนที่นั่งโต๊ะข้างหลังเป็นเวลานานมาก โดยไม่เบลอหน้าเขาเลย สุดท้ายพอโต๊ะข้างหลังเขาเห็นคลิปนั้น เขาก็เลยขอให้เจ้าของ Vlog เบลอหน้าเขา เพราะหนึ่งเขามากินข้าว เขาไม่ได้อยากเอาหน้าตัวเองออกสื่อตอนกิน และสองเจ้าของ Vlog ก็ไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเขา แถม Vlog นั้นยังเป็นการถ่ายเพื่อเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์อีก สุดท้ายเจ้าของ Vlog ต้องไปลบคลิปและเบลอหน้าโต๊ะข้างหลังให้ 



3. ถ้าจะทำคลิปวิดีโอหารายได้ ต้องขออนุญาตอย่างไรให้ ไม่ผิด PDPA 

สมมติว่าเราจะไปทำ YouTube หรือว่า TikTok ทำคลิปสั้น ๆ ลงเพจใน Facebook รีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ต่าง ๆ ที่สร้างรายได้จากเพจ จากช่องยูทูบ จากยอดวิว จากแบรนด์ที่ว่าจ้างในเชิงพาณิชย์ แน่นอนว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คอนเทนต์นั้นมันมีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เราต้องขออนุญาตก่อนเสมอ ไม่งั้นมีความผิด การขออนุญาตก็จะต้องขอโดยมีหลักฐาน ไม่ใช่ขอปากเปล่าด้วยนะคะ  


ซึ่งความยินยอมนั้นต้องเป็นหนังสือหรือว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเราอาจจะไลน์ไปขออนุญาตทางร้านหรือเจ้าของ บอกเขาก่อนว่าเราจะไปถ่ายลง YouTube ช่องนี้นะ แล้วใช้กล้องบันทึกเสียงไว้ แคปหน้าจอไลน์ที่เราขออนุญาตเจ้าของร้านหรือคาเฟ่เก็บเอาไว้ หรือเวลาจะสัมภาษณ์ใครลง YouTube ก็ต้องขออนุญาตอัดเสียงเขา แล้วสำเนาไฟล์นั้นเอาไว้ด้วยค่ะ 



5. ยินยอมแล้วก็ถอนความยินยอมได้ 

เอาล่ะ สมมติว่าเรามีช่องยูทูบของตัวเอง วันหนึ่งเราถ่ายเพื่อนที่กำลังหยอกล้องุ้งงิ้งอยู่กับแฟน เสร็จแล้วเราก็อัปคลิปลง YouTube ซึ่งเพื่อนที่เราถ่ายก็รับรู้ รับทราบ และยินยอมให้เราลงคลิปวิดีโอนั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนคนนั้นที่อยู่ในคลิปก็มาขอให้ลบวิดีโอนั้นด้วยเหตุผลบางอย่าง อาจเพราะว่าเพื่อนเลิกกับแฟนคนนั้นแล้วและไม่อยากเห็นคลิปวิดีโอนั้นอยู่บนโลกออนไลน์ ในกรณีนี้เรียกว่าเพิกถอนความยินยอม เราก็ต้องไปลบคลิปวิดีโอนั้นตามที่เพื่อนร้องขอ ไม่อย่างนั้นเพื่อนก็สามารถฟ้องเราได้ค่ะ

 


ณ เวลานี้กฎหมายมันยังกว้างมาก ๆ แล้วก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าในฐานะครีเอเตอร์ เราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เหมือนต้องรอให้มีเคสเกิดขึ้นมาก่อนแล้วเราจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร แม้มันมีกฎหมายอยู่ก็จริงแต่การบังคับใช้ก็ยังต้องเป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อีกทีอยู่ดี ดังนั้นครีเอเตอร์ก็ระวังได้แค่เบื้องต้นค่ะ 

ที่มาข้อมูล

  • https://www.youtube.com/watch?v=jMAbhogfrTU
  • https://t-reg.co/blog/t-reg-knowledge/what-is-pdpa/
  • https://www.springnews.co.th/spring-life/825282
  • https://www.youtube.com/watch?v=gOecQD0Bg1s
  • https://www.bangkokbiznews.com/tech/1007259
  • https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2730984