คำมูลคืออะไร
คำมูล คือ คำดั้งเดิมที่ใช้สื่อสารกันอยู่แล้วในภาษา อาจจะเป็นคำไทยแท้หรือคำยืมจากภาษาต่างประเทศก็ได้ คำมูลเป็นคำที่จะถูกนำไปสร้างเป็นคำใหม่ อย่างคำประสม คำซ้อนและคำซ้ำ นั่นเอง เรามาดูลักษณะของคำมูลกันค่ะ
คำมูลที่เป็นคำไทยแท้
คำมูล 1 พยางค์ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย หมู หมา กา ไก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
คำมูล 2 พยางค์ เช่น มะพร้าว สะอาด สะดวก ประหยัด จิ้งหรีด
คำมูล 3 พยางค์ เช่น สับปะรด จักจั่น
คำมูล 4 พยางค์ เช่น กระตือรือร้น กระจัดกระจาย
คำมูลที่เป็นคำภาษาต่างประเทศ เช่น ไมล์ เมตร คอมพิวเตอร์ ฟุต เกี๊ยะ ธรรม โชค ชาติ สนุก ขนุน ฉลาด สุข พัฒนา ศาลา นาฬิกา ฯลฯ
คำมูลเหล่านี้จะถูกนำมารวมกันกลายเป็น คำประสม คำซ้อน คำซ้ำ เกิดเป็นคำใหม่และมีความหมายใหม่ แล้วแต่วิธีหรือรูปแบบการสร้างคำค่ะ
คราวนี้เรามาดูกันว่า วิธีการสร้างคำของไทยทั้ง 3 ชนิดมีลักษณะและความแตกต่างกันอย่างไร
1. คำประสม ลักษณะคำประสมจะต้องมีสิ่งต่อไปนี้ค่ะ
- เป็นการนำคำมูลที่มีความหมายไม่เหมือนกันตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมารวมกันหรือประสมกัน เช่น ไฟฟ้า ตู้เย็น น้ำแข็ง ลูกเสือ เตารีด แมวมอง แม่ครัว แม่มด แม่บ้าน ลูกเสือ ลูกเล่น ฯลฯ
- เมื่อประสมกันแล้วเกิดเป็นคำใหม่ มีความหมายใหม่ แต่ก็ยังคงมีเค้าของความหมายเดิมอยู่ ตัวอย่าง คำประสม เช่น ปากร้าย ใจดี ใจดำ อ่อนหวาน เตารีด หมอดู แม่งาน พ่อบ้าน ฯลฯ
- อาจมีความหมายไปในเชิงเปรียบเทียบ เช่น แมวมอง หมายถึง คนที่คอยมองหาหรือเสาะหาคน
สวย หล่อมีความสามารถเข้าสู่วงการแสดง มือขวา หมายถึง ผู้คอยติดตามรับใช้ใกล้ชิดกว่าคนอื่น ๆ
- คำมูลที่นำมาประสมกันนั้น อาจเป็นคำไทยกับคำไทย คำไทยกับคำต่างประเทศ และคำต่างประเทศกับคำต่างประเทศก็ได้ เช่น ไฟฟ้า (ไทย+ไทย) หลักฐาน (ไทย + บาลี) พวงหรีด (ไทย+อังกฤษ) ผ้าผวย (ไทย+จีน) รถเก๋ง (บาลี+จีน)
จาก ตัวอย่าง คำประสม น้อง ๆ จะเห็นว่า คำมูลที่มาประสมกันนั้น จะต้องเกิดเป็นคำใหม่ที่มีความหมายใหม่เท่านั้น เช่น ลูกเสือโรงเรียนบ้านหนองน้ำผึ้งกำลังเดินทางไกล ลูกเสือ เป็นคำประสม เพราะ ลูกเสือ หมายถึง เด็กผู้ชายที่แต่งเครื่องแบบลูกเสือ
แม่ของฉันมีอาชีพเป็นแม่บ้าน แม่บ้าน หมายถึง ผู้หญิงที่ดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ภายในบ้าน
ชาวต่างชาติชอบกินต้มยำกุ้ง ต้มยำกุ้ง หมายถึง ชื่ออาหารไทยชนิดหนึ่งที่มีวิธีการปรุงแบบต้ม รสชาติเปรี้ยวแบบยำและมีกุ้งเป็นส่วนประกอบ
ดังนั้นหากคำมูลที่มารวมกันไม่เกิดความหมายใหม่ จะ ไม่ใช่คำประสมค่ะ แต่จะเป็นการนำคำมาเรียงกันเฉย ๆ เช่น
รู้จักคำประสมกันแล้ว ต่อไปมาดูคำซ้อนกันค่ะ
2. คำซ้อน ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ค่ะ
- ต้องเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน พวกเดียวกัน ทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาซ้อนกัน เช่น ทรัพย์สิน ซากศพ หมดสิ้น รกร้าง ว่างเปล่า ไร่นา หนุ่มสาว
- คำที่นำมาซ้อนกันจะเกิดเป็นคำใหม่ที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำเดิมหรือมีความหมายอยู่ที่คำใดคำหนึ่ง เช่น แยกย้าย ขัดถู นุ่งห่ม ชมเชย เยินยอ ชิงชัง เสแสร้ง ทุกข์สุข โชคลาภ ข้าวปลา เผื่อแผ่ ข้าทาส มือไม้ ปัดกวาด
- คำซ้อนบางคำเกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายตรงกันข้ามกันมาเรียงต่อกัน เช่น สูงต่ำ ดำขาว หนุ่มสาว
- คำซ้อนบางคำมักจะเน้นเสียงพยัญชนะหรือเสียงสระที่คล้องจองหรือมีเสียงใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเรียกคำซ้อนประเภทนี้ว่า คำซ้อนเพื่อเสียง เช่น จุกจิก เฉอะแฉะ โฉ่งฉ่าง ยึกยัก
- คำมูลใช้สร้างคำซ้อนนั้นอาจเป็นคำมูลจากภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้ เช่น ทรัพย์สิน ซากศพ อาคารบ้านเรือน
ตัวอย่าง คำซ้อน
หมดสิ้น รกร้าง ว่างเปล่า ไร่นา หนุ่มสาว โลเล แยกย้าย ขัดถู นุ่งห่ม ชมเชย เยินยอ ชิงชัง เสแสร้ง ทุกข์สุข โชคลาภ ข้าวปลา เผื่อแผ่ ข้าทาส มือไม้ ปัดกวาด
จาก ตัวอย่าง คำซ้อน น้อง ๆ จะเห็นว่าเราสามารถจำแนกคำซ้อนได้ 2 ชนิด ได้แก่ คำซ้อนเพื่อความหมาย และคำซ้อนเพื่อเสียง
คำซ้อนเพื่อความหมาย คือคำซ้อนที่เกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายเหมือนกันหรือคำมูลที่มีความหมายตรงกันข้ามกันมาเรียงต่อกัน เช่น บ้านเรือน รกร้าง ชั่วร้าย ฆ่าฟัน ดีเลิศ เล็กน้อย ข้าทาส นิดหน่อย เหนี่ยวรั้ง ส่วน คำซ้อนเพื่อเสียง ก็คือการนำคำมูลตั้งแต่สองคำขึ้นไปมาซ้อนกัน มีลักษณะเป็นเสียงสัมผัสสระหรือพยัญชนะ เช่น โลเล ตุกติก กระจองอแง สุงสิง รุ่มร่าม รุงรัง ยึกยัก โวยวาย โหวกเหวก ตุ้งติ้ง รุ่งริ่ง
คราวนี้เรามาดู ความหมายของคำซ้อน เมื่อซ้อนกันแล้วจะทำให้เกิดความหมายอย่างไรได้บ้าง
1. ทำให้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง รูปร่าง พัดวี เลือกสรร ซื่อสัตย์ หลงเหลือ ประเทศชาติ
2. ทำให้ความหมายเฉพาะเจาะจงกว่าเดิม เช่น ปัดกวาดเช็ดถู หัวหู ญาติโยม เนื้อตัว หน้าตา บ้านช่อง
3. ทำให้ความหมายกว้างกว่าเดิม เช่น ลูกหลาน พี่น้อง ถ้วยชาม ข้าวปลา บ้านเมือง
4. ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น กดขี่ หนาแน่น แน่นหนา อบรม ตัดขาด โขกสับ อ่อนหวาน อยู่กิน วิ่งเต้น เสียดสี หลับนอน
5. คำซ้อนที่ซ้อนกับภาษาถิ่นหรือคำภาษาต่างประเทศ สามารถอธิบายความหมายของคำภาษาถิ่นหรือภาษาต่างประเทศได้ เช่น พัดวี เสื่อสาด ภูตผี ทรัพย์สิน แสวงหา สร้างสรรค์ งูเงี้ยว ทองคำ
การสร้างคำชนิดต่อไปคือ คำซ้ำ ค่ะ
3. คำซ้ำ
คำซ้ำ คือ การนำคำมูลคำเดียวกันมาพูดหรือเขียนซ้ำกันโดยมีไม้ยมก ( ๆ ) กำกับ เช่น เด็ก ๆ เล็ก ๆ ไป ๆ มา ๆ เป็นต้น คำซ้ำมีหลายประเภท เช่น
1.ซ้ำคำเพื่อบอกจำนวนมากกว่าหนึ่งหรือบอกความเป็นพหูพจน์ เช่น หนุ่ม ๆ สาว ๆ เด็ก ๆ พ่อ ๆ
แม่ ๆ ตั้ง ๆ
2. ซ้ำคำเพื่อเน้นน้ำหนักให้มากขึ้น เช่น รวย ๆ เฮง ๆ มาก ๆ น้อย ๆ
3. ซ้ำคำเพื่อให้น้ำหนักเบาลง เช่น ขาว ๆ บาง ๆ เล็ก ๆ
4. ซ้ำคำเพื่อบอกความไม่แน่ใจ เช่น หลัง ๆ ท้าย ๆ นั่งอยู่ข้างหลัง ๆ แถว ๆ ริม ๆ ข้าง ๆ
5. ซ้ำคำเพื่อแยกออกเป็นส่วน ๆ เช่น ตู้ ๆ ชิ้น ๆ เรื่อง ๆ อัน ๆ
6. ซ้ำคำเพื่อให้เกิดภาพพจน์ เช่น น้ำหยดติ๋ง ๆ เขาพยักหน้าหงึก ๆ หม้อข้าวเดือดปุด ๆ น้ำไหลเอื่อย ๆ เป็นต้น
7. คำซ้ำบางคำมีความหมายเป็นสำนวน เช่น หน้าตาพื้น ๆ (ธรรมดา) ของกล้วย ๆ (ง่าย) น้อง ๆ ศรราม (เกือบ, ใกล้, คล้าย) อยู่ ๆ ก็ร้องไห้ (เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ) ทำได้แค่งู ๆ ปลา ๆ (ไม่ชำนาญ)
มีข้อที่น้อง ๆควรระวัง เกี่ยวกับการซ้ำคำ เช่น คำที่ออกเสียงซ้ำกัน บางคำอาจไม่ใช่คำซ้ำเสมอไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ
คำว่า นานา ไม่ใช่คำซ้ำจึงใช้ไม้ยมกไม่ได้ เพระ นานา คือคำมูลภาษาบาลี หมายถึง ต่าง ๆ มักพูดซ้อนกันว่า ต่าง ๆ นานา
ธรรมชาติของภาษามีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ การเกิดของภาษาก็คือการสร้างคำขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หากไม่ได้รับความนิยมหรือไม่ได้ใช้ คำ ๆนั้นก็ล้มหายตายจากไป ดังนั้นการศึกษาวิธีการสร้างคำจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อน้อง ๆจะได้ใช้ภาษาสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ พี่ก็หวังว่าบทความนี้คงช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจการสร้างคำในภาษาไทยมากขึ้นนะคะ
ที่มาข้อมูล